มทร.กรุงเทพเสริมการตลาดออนไลน์ องค์ความรู้เพื่อการพัฒนาชาวโป่งลึก-บางกลอย

      
    ความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ กับสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรม ปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับเกษตรกร บ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอย ด้วยการจัดฝึกอบรมการตลาดออนไลน์ เพิ่มช่องทางการจำหน่ายที่ทันสมัยในการจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร เป็นองค์ความรู้ใหม่ที่ทางชุมชนต้องการเพื่อ ยกระดับมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชนให้กับผู้ซื้อภายนอกได้สะดวกยิ่งขึ้น

    การจัดอบรมระหว่างวันที่ 11-13 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ทีมคณะอาจารย์และนักศึกษา มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ ได้ลงพื้นที่ โครงการแผนพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ตามพระราชดำริ บ้านบางกลอย – โป่งลึก ต.แม่เพรียง อ.แก่งกระจาน จ.เพชรบุรี เพื่อทำการฝึกอบรมการตลาดออนไลน์ แก่เกษตรกรในพื้นที่ที่สนใจ

    เนื้อหาในการอบรม เริ่มตั้งแต่ การบรรยายความรู้เกี่ยวกับการทำตลาดออนไลน์ในปัจจุบัน เรียนรู้เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อการตลาดออนไลน์ แนวโน้มการตลาดและโซเชียลมีเดีย รวมถึงการศึกษาพฤติกรรมการใช้โซเชียลมีเดียของผู้บริโภคในปัจจุบัน ผู้อบรมยังได้ฝึกปฏิบัติการจริงโดยการใช้เครื่องมือต่างๆ ทั้งการถ่ายรูปสินค้า วิธีการลงขายสินค้าตามแพลตฟอร์มทางโซเชียลมีเดียด้วย

    จุดประสงค์ของการอบรมการตลาดออนไลน์ เพื่อที่จะทำให้ชาวบ้านโป่งลึก และบ้านบางกลอย มีความเข้าใจในการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มโอกาส ในการเสริมอาชีพและรายได้ให้กับคนชุมชน เป็นการยกระดับผลิตภัณฑ์ในชุมชนไปสู่ตลาดภายนอกได้ โดยยังรักษา ไว้ซึ่งอัตลักษณ์ ของกลุ่มชาติพันธุ์ บ้านโป่งลึก-บางกลอย เป็นอย่างดี
    นางรุ่งทิพย์  โคบาล (รักษาการ)รองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ ม.ราชมงคลกรุงเทพ กล่าวว่า เพชรบุรีเป็นหนึ่งในกลุ่มจังหวัดพื้นที่ให้บริการทางวิชาการชุมชนภาคกลางตอนล่างของมหาวิทยาลัย ซึ่งสอดคล้องกับการดำเนินงานพื้นที่ต้นแบบในหมู่บ้านโป่งลึกและหมู่บ้านบางกลอยในจังหวัดเพชรบุรีของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ  ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตคนให้เกิดความยั่งยืน ซึ่งกิจกรรมในครั้งนี้เป็นการให้องค์ความรู้ความเข้าใจในทิศทางการตลาดออนไลน์ที่กำลังเป็นส่วนหนึ่งในโลกยุคปัจจุบัน การใช้เทคโนโลยีหรือเครื่องมือสื่อสารเพื่อเพิ่มโอกาสทางการค้าและสร้างรายได้สู่ชุมชนผ่านแอพพิเคชั่น Line OA และ Tiktok ควบคู่กับการเผยแผ่เอกลักษณ์ ภูมิปัญญาและวัฒนธรรมในชุมชน 
    รักษาการรองคณบดีคณะบริหารธุรกิจ มทร.กรุงเทพ กล่าวถึงการเลือกนำโซเซียลมีเดีย อย่างแอพพิเคชั่น Line OA และ Tiktok มาใช้ ว่าเป็นเครื่องมือที่เข้าถึงผู้คนได้ง่ายและมีวิธีการไม่ซับซ้อน มีความเป็นสากลและสามารถประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้ให้กับผู้เข้าร่วมอบรมได้  
    “โอกาสที่ชาวชุมชนจะได้รับนอกเหนือจากการที่เขาจะมีตลาดใหม่ มากกว่าการรอให้พ่อค้าคนกลางขึ้นมารับสินค้าของเขาออกไปจำหน่าย เขายังสามารถรวมกลุ่มและจัดจำหน่ายสินค้าออกไปด้วยตัวเอง ซึ่งเราคาดหวังว่าในอนาคต ถ้าเขาเข้าใจเรื่องการตลาดออนไลน์ แล้วสามารถใช้เครื่องมือต่างๆ ได้ เขาน่าจะนำสินค้าหรือผลผลิตทางการเกษตรที่ทำ มาแปรรูปและนำไปสู่ตลาดออนไลน์ได้ มีรายได้ที่สูงขึ้นและยั่งยืนในการดำรงชีพต่อไป” รักษาการรองคณบดีกล่าวต่อไปว่า “เราไม่ได้คิด 100% ว่าเขาต้องทำได้หมด แต่อย่างหนึ่งคือได้เปิดโอกาสให้เขาได้เห็นว่ามันมีช่องทางใหม่ๆ ที่เขาสามารถทำได้ อย่างรอบๆ บ้านที่เขามีเขาสามารถทำคอนเทนต์ปลูกผักแนวตั้งได้ คือมันไม่จำเป็นว่าต้องมีที่ ถ้าคนโบราณเขาจะคิดแค่ว่าต้องมีที่ถึงจะปลูกพืชได้ แต่ ณ วันนี้ พื้นที่แค่รอบบ้านเขาก็สามารถปลูกพืชทำเงินได้ อันนี้ก็เป็นอย่างหนึ่งที่พยายามจะบอกเขา”

    นางจินดารัตน์ คำเวียง เกษตรกรบ้านโป่งลึก-บางกลอยผู้เข้าร่วมอบรมการตลาดออนไลน์กล่าวว่า การเข้าร่วมอบรมในครั้งนี้ทำให้ได้รับความรู้เกี่ยวกับการตลาดออนไลน์เป็นอย่างมาก ส่วนตัวเป็นเกษตรกรที่ขายผลผลิตทางการเกษตรผ่านช่องทางออนไลน์อยู่แล้ว แต่ขายผ่านทางเฟสบุ๊คเท่านั้น และทำให้ทราบว่าช่องทางอื่นๆอย่างแอพพลิเคชั่น TIKTOK และ ไลน์ ก็สามารถขายสินค้าได้เหมือนกัน จะนำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปวางแผนการขายผลผลิตและประชาสัมพันธ์สินค้าของตนเองต่อไป
    นายสิทธิพล รักจงเจริญ เกษตรกรในพื้นที่ที่มีความสนใจเรื่องการขายสินค้าออนไลน์ กล่าวเสริมว่า มีความสนใจด้านการตลาดออนไลน์อยู่แล้ว พอปิดทองหลังพระฯและมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพจัดอบรม จึงเป็นคนแรกๆที่ให้ความสนใจ
    หลังจากอบรมการตลาดออนไลน์ เกิดแนวความคิดอยากจะนำความรู้มาต่อยอด โดยการแปรรูปผลผลิตในชุมชนอย่างกล้วย มาแปรรูปเป็นกล้วยตาก กล้วยฉาบ เนื่องจากเป็นกล้วยที่ปลูกแบบออร์แกนิค มีคุณภาพ นอกจากผู้บริโภคได้ซื้อสินค้าที่ปลอดภัยแล้ว ยังสามารถสร้างรายได้ให้กับชุมชน หากขายทางช่องทางออนไลน์ได้ ก็จะเพิ่มความสะดวกและติดต่อลูกค้าได้โดยตรง 
 
    นางปรียานุช แครจี ลูกจ้างศูนย์ฝึกศิลปาชีพบ้านโป่งลึก-บางกลอย กล่าวว่า ในชุมชนมีของสวยๆงามๆมากมาย ทั้งผ้าทอ ผ้าปัก นอกจากนี้ยังมีศิลปวัฒนธรรม รวมถึงแหล่งท่องเที่ยวต่างๆ ถ้าสามารถใช้ช่องทางออนไลน์เผยแพร่ได้ จะทำให้คนภายนอกรู้จักโป่งลึก-บางกลอย มากขึ้น ซึ่งจะเป็นช่องทางในการขายสินค้าหรือผลผลิตในพื้นที่ได้มากขึ้นด้วย
    โครงการอบรมการตลาดออนไลน์ เกิดขึ้น หลังจากการประชุมหารือร่วมระหว่าง ผู้บริหารจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ และสถาบันส่งเสริมพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ซึ่งได้มีการหารือด้านการตลาด (กระบวนการปลายน้ำ) โดยคณะบริหารธุรกิจ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลกรุงเทพ จะสนับสนุนด้านการตลาด ด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมระบบ IOT (Internet of Things)

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ