ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงเป็นคำที่ประชาชนชาวไทยได้ยินกันมาอย่างต่อเนื่องตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ซึ่งหลายภาคส่วน ทั้งภาคประชาชน ภาคราชการ และภาค เอกชน ต่างพยายามน้อมนำมาปฏิบัติในชีวิตประจำวันและประยุกต์ใช้ในการดำเนินงานในองค์การ
เมื่อปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงถูกน้อมนำไปปฏิบัติอย่างแพร่หลาย ทำให้ความหมายและรูปแบบการปฏิบัติเริ่มหลากหลายและเบี่ยงเบนไปจากกรอบแนวคิดหลัก วันที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ. 2542 พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้มีพระบรมราชวินิจฉัยและพระกรุณาปรับปรุงแก้ไขพระราชทานบทความเรื่อง “ปรัชญาของ เศรษฐกิจพอเพียง” ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษกิจและสังคมแห่งชาติได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิในทางเศรษฐกิจและสาขาอื่นๆ มาร่วมกันประมวลและ กลั่นกรองพระราชดำรัสเรื่อง เศรษฐกิจพอเพียง เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของสำนักงานฯ และทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนประชาชนโดยทั่วไป โดยมีความว่า
“เศรษฐกิจพอเพียง เป็นปรัชญาชี้ถึงแนวการดำรงอยู่และปฏิบัติตนของประชาชนในทุกระดับ ตั้งแต่ระดับครอบครัว ระดับชุมชนจนถึง ระดับรัฐ ทั้งในการพัฒนาและการบริหารประเทศให้ดำเนินไปในทางสายกลาง โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจเพื่อให้ก้าวทันต่อยุคโลกาภิวัตน์ ความพอเพียง หมายถึง ความพอประมาณ ความมีเหตุผล รวมถึงความจำเป็นที่จะต้องมีระบบคุ้มกันในตัวที่ดีพอสมควรต่อการมีผลกระทบ ใด ๆ อันเกิดจากการเปลี่ยนแปลงทั้งภายนอกและภายใน ทั้งนี้ จะต้องอาศัยความรอบรู้ ความรอบคอบ และความระมัดระวัง อย่างยิ่งในการ นำวิชาการต่าง ๆ มาใช้ในการวางแผน และการดำเนินการทุกขั้นตอน และขณะเดียวกัน จะต้องเสริมสร้างพื้นฐานจิตใจของคนในชาติ โดย เฉพาะเจ้าหน้าที่ของรัฐ นักทฤษฎี และนักธุรกิจในทุกระดับให้มีสำนึกในคุณธรรม ความซื่อสัตย์สุจริต และให้มีความรอบรอบรู้ที่เหมาะสม ดำเนินชีวิตด้วยความอดทน มีความเพียรพยายามมีสติปัญญา และความรอบคอบ เพื่อให้สมดุลและพร้อมต่อการรองรับความเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว และกว้างขวางทั้งด้านวัตถุ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรมจากโลกภายนอกได้เป็นอย่างดี”
“เศรษฐกิจพอเพียง” ไม่จำเป็นต้องต่อต้านกระแสโลกาภิวัตน์หรือสิ่งทันสมัยต่างๆ ทุกคนในสังคมสามารถนำไปใช้ได้ แต่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นการใช้จ่ายอย่าง ขี้เหนียว การห้ามเป็นหนี้ การยอมรับสภาพ หรือการไม่ขวนขวายทำสิ่งใด ความหมายที่ลึกซึ้งของเศรษฐกิจพอเพียง คือ การคำนึงถึงความพอประมาณ คือ ให้ทำ อะไรด้วยความพอดี ไม่มาก หรือน้อยเกินไป และต้องไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น ดำเนินชีวิตให้ตั้งอยู่บนพื้นฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท อันจะนำ ไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนได้อย่างแท้จริง เปรียบเสมือนการสร้างเสาเข็ม สร้างฐานให้แข็งแรงมั่นคง ไม่ว่าพายุใดๆ เข้ามา หรือจะต่อเติมสร้างเพิ่มในภายหลัง บ้านก็ จะยังคงยืนหยัดอยู่ได้
พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้พระราชทานหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงให้คนไทยครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2517 ดังพระบรมราโชวาทในพิธีพระราชทาน ปริญญาบัตรของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วันพฤหัสบดีที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2517 ความว่า
“...การพัฒนาประเทศนั้นจำเป็นต้องทำตามลำดับขั้น ต้องสร้างพื้นฐาน คือ ความพอมี พอกิน พอใช้ของประชาชนส่วนใหญ่เป็นเบื้องต้น ก่อน โดยใช้วิธีการและใช้อุปกรณ์ที่ประหยัด แต่ถูกต้องตามหลักวิชา เมื่อพื้นฐานมั่นคงพร้อมพอควรและปฏิบัติได้แล้ว จึงค่อยสร้างค่อย เสริมความเจริญและฐานะเศรษฐกิจขั้นที่สูงขึ้นโดยลำดับต่อไป หากมุ่งแต่จะสร้างความเจริญ ยกเศรษฐกิจขึ้นให้รวดเร็วแต่ประการเดียว โดยไม่ให้แผนปฏิบัติการสัมพันธ์กับสภาวะของประเทศและของประชาชนโดยสอดคล้องด้วย ก็จะเกิดความไม่สมดุลในเรื่องต่างๆขึ้น ซึ่ง อาจกลายเป็นความยุ่งยากล้มเหลวได้ในที่สุด ดังเห็นได้ที่อารยประเทศหลายประเทศกำลังประสบปัญหาทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอยู่ใน เวลานี้...”
หากพิจารณาพระบรมราโชวาทให้ดีจะเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงมีความเป็นห่วงประเทศชาติเป็นอย่างมาก เนื่องจากช่วงเวลานั้นเป็นช่วงที่ ประชาธิปไตยกำลังเบ่งบาน เนื่องจากเป็นช่วงหลังเกิดเหตุการณ์ 14 ตุลาคม พ.ศ. 2516 ไม่นานนัก อีกทั้งเป็นช่วงที่ใช้แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 3 ซึ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้โตแบบก้าวกระโดด พัฒนาอุตสาหกรรมแทนการนำเข้า ประเทศมีหนี้มากเพราะต้องกู้เงินจากต่างประเทศ ซึ่งใน การชำระหนี้คืนนั้นก็โดยวิธีส่งออกสินค้าเกษตร จึงทำให้ต้องเพิ่มการผลิตสินค้าเกษตร เป็นผลให้ต้องลดพื้นที่ปลูกป่าและปลูกพืชเศรษฐกิจแทน พระองค์จึง พระราชทานหลักปรัชญานี้ให้คนไทยเพื่อเป็นแนวทางในการดำเนินชีวิตและเป็นแนวทางในการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศอย่างเป็นไม่ก้าวกระโดด อยู่บนพื้น ฐานของทางสายกลางและความไม่ประมาท
และในปี พ.ศ. 2517 ปีเดียวกันนั้น พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ยังได้พระราชทานแนวพระราชดำริเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้งหนึ่งไว้อย่างกระชับชัดเจน ดังพระราชดำรัสที่พระราชทานแก่คณะบุคคล ในโอกาสเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท ถวายพระพรชัยมงคลเนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลา ดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต วันพุธที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2517 ความว่า
“...คนอื่นจะว่าอะไรก็ช่างเขา จะว่าเมืองไทยล้าสมัย ว่าเมืองไทยเชย ว่าเมืองไทยไม่มีสิ่งสมัยใหม่ แต่เราอยู่พออยู่พอกิน และขอให้ทุกคนมีความปรารถนาที่จะทำ ให้เมืองไทย พออยู่พอกิน มีความสงบ และทำงานตั้งจิตอธิษฐานตั้งปณิธาน ในทางนี้ที่จะให้เมืองไทยอยู่แบบพออยู่พอกิน ไม่ใช่ว่าจะรุ่งเรืองอย่างยอด แต่ว่ามีความ พออยู่พอกิน มีความสงบ เปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ ถ้าเรารักษาความพออยู่พอกินนี้ได้ เราก็จะยอดยิ่งยวดได้ ประเทศต่างๆ ในโลกนี้กำลังตก กำลังแย่ กำลังยุ่ง เพราะแสวงหาความยิ่งยวด ทั้งในอำนาจ ทั้งในความก้าวหน้าทางเศรษฐกิจ ทางอุตสาหกรรม ทางลัทธิ ฉะนั้นถ้าทุกท่านซึ่งถือว่าเป็นผู้ที่มีความคิดเหมือนกัน ช่วยกัน รักษาส่วนรวมให้อยู่ดีกินดีพอสมควร ขอย้ำ พอควร พออยู่ พอกิน มีความสงบ ไม่ให้คนอื่นมาแย่ง คุณสมบัตินี้จากเราไปได้ ก็จะเป็นของขวัญวันเกิดที่ถาวร ที่จะมี คุณค่าอยู่ตลอดกาล...”
พระราชดำรัสนี้พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ทรงเน้นถึง พอควร พออยู่ พอกิน มีความสงบ ซึ่งกระชับแต่มีความหมายชัดเจน คนไทยส่วนใหญ่ยังมีความเข้าใจ คลาดเคลื่อนเลยทำให้ขาดความสนใจ จนเมื่อปี พ.ศ. 2540 ประเทศไทยได้เกิดวิกฤตเศรษฐกิจอย่างหนัก พนักงานถูกปลดเป็นจำนวนมาก ค่าเงินบาทถูกลดค่าลง อย่างมาก ผู้ประกอบการล้มละลายจำนวนมาก ช่วงเวลานั้นเองพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตรได้พระราชทานปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกครั้งหนึ่ง ดังพระราช ดำรัสพระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆที่เข้าเฝ้าฯ ถวายชัยมงคล เนื่องในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดาฯ พระราชวังดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 4 ธันวาคม 2540 ความว่า
“...ความจริงเคยพูดเสมอในที่ประชุมอย่างนี้ว่า การจะเป็นเสือนั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ที่เรามีเศรษฐกิจแบบพอมีพอกิน แบบพอมีพอกินนั้น หมายความว่าอุ้มชูตัวเองได้ ให้มีพอเพียงกับตัวเอง อันนี้ก็เคยบอกว่าความพอเพียงนี้ไม่ได้หมายความว่าทุกครอบครัวจะต้องผลิตอาหาร ของตัว จะต้องทอผ้าใส่เอง อย่างนั้นมันเกินไป แต่ว่าในหมู่บ้านหรือในอำเภอ จะต้องมีความพอเพียงพอสมควร บางสิ่งบางอย่างที่ผลิตได้ มากกว่าความต้องการ ก็ขายได้ แต่ขายที่ไม่ห่างไกลเท่าไหร่ ไม่ต้องเสียค่าขนส่งมากนัก อย่างนี้ท่านนักเศรษฐกิจต่างๆก็มาบอกว่าล้าสมัย จริง อาจจะล้าสมัย คนอื่นเขาต้องมีการเศรษฐกิจที่ต้องมีการแลกเปลี่ยน เรียกว่าเป็นเศรษฐกิจการค้า ไม่ใช่เศรษฐกิจความพอเพียง เลย รู้สึกว่าไม่หรูหรา แต่เมืองไทยเป็นประเทศที่มีบุญอยู่ว่า ผลิตให้พอเพียงได้...”
ปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงจึงได้ถูกนำมาปฏิบัติอย่างจริงจัง จนปัญหาภาวะวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศเริ่มคลี่คลาย นับว่าหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ช่วยให้พสกนิกรสามารถผ่านพ้นวิกฤติเศรษฐกิจครั้งนั้นไปได้ และปัจจุบันแนวคิดของปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงได้ถูกน้อมนำ มาใช้อย่างต่อเนื่องและกว้างขวางมากขึ้นทั้งภาคเอกชนและหน่วยงานต่างๆ ดังจะเห็นจากผลลัพธ์ของหลายต่อหลายท่านที่ปฏิบัติตามและพบทางออกของชีวิตที่พึ่ง พาตนเองได้ และมีความสุขอย่างแท้จริง
มีหลักจำง่ายๆ คือประกอบด้วยคุณลักษณะ 3 ประการ และเงื่อนไข 2 เงื่อนไข ดังนี้
ห่วงที่ 1. ความพอประมาณ
หมายถึง ความพอดีที่ไม่น้อยเกินไปและไม่มากเกินไป โดยไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น เช่น การผลิตและการบริโภคที่อยู่ในระดับพอประมาณ
ห่วงที่ 2. ความมีเหตุผล
หมายถึง การตัดสินใจเกี่ยวกับระดับความพอเพียงนั้น จะต้องเป็นไปอย่างมีเหตุผล โดยพิจารณาจากเหตุปัจจัยที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนคำนึงถึงผลที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
จากการกระทำนั้นๆ อย่างรอบคอบ
ห่วงที่ 3. ภูมิคุ้มกัน
หมายถึง การเตรียมตัวให้พร้อมรับผลกระทบและการเปลี่ยนแปลงด้านต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น โดยคำนึงถึงความเป็นไปได้ของสถานการณ์ต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นใน
อนาคต
โดยมีเงื่อนไขของการตัดสินใจและดำเนินกิจกรรมต่างๆ ให้อยู่ในระดับพอเพียง 2 ประการ ดังนี้
เงื่อนไข 1. เงื่อนไขความรู้
องค์ประกอบในการทำงานทุกอย่างต้องเริ่มต้นจากความรู้ ซึ่งต้องรู้ลึก รู้กว้าง และสามารถนำวิชาการต่างๆนั้นมาวางแผนและดำเนินการทุกขั้นตอนอย่างรอบคอบ
และระมัดระวัง เพราะหากไม่มีความรู้ การนำไปปฏิบัติอาจมีปัญหา
เงื่อนไข 2. เงื่อนไขคุณธรรม
ที่จะต้องเสริมสร้าง ประกอบด้วย มีความตระหนักใน คุณธรรม มีความซื่อสัตย์สุจริตและมีความอดทน มีความเพียร ใช้สติปัญญาในการดำเนินชีวิต
เกษม วัฒนชัย. 2548. เอกสารประกอบการปาฐกถาพิเศษ “เศรษฐกิจพอเพียงกับการศึกษา”. กรุงเทพฯ .
ชนัธฌา ศิวโมกษธรรม. 2550. “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง”. “บูรณาการเศรษฐกิจพอเพียงกับพระอัจฉริยภาพด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม
ในพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวพระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร” สมาคมวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งประเทศไทย. หน้า 27 – 52.
มูลนิธิชัยพัฒนา. ม.ป.ป. เศรษฐกิจพอเพียง. ค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2555. จาก http://www.chaipat.or.th/chaipat/content/porpeing/porpeing.html
#porpeing3
สำนักข่าวเจ้าพระยา. 2552. เรื่องของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง. ค้นเมื่อ 10 กุมภาพันธ์ 2555. จาก http://www.chaoprayanews.com
สุภาคย์ อินทองคง. 2549. ทำความเข้าใจกับความคิดเศรษฐกิจพอเพียง. Thai Fund Foundation. ค้นเมื่อ 1 กุมภาพันธ์ 2555. จาก http://www.thaingo.org/
cgi-bin/content/content2/show.pl?0357