อ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดอุดรธานี เมื่อก่อสร้างแล้วเสร็จ กลับไม่สามารถใช้ประโยชน์จากน้ำได้ เนื่องจากไม่มีระบบส่งน้ำและการบริหารจัดการน้ำ ราษฎรจึงขาดแคลนน้ำอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตร ผลผลิตข้าวไม่ดีเท่าที่ควร ไม่มีรายได้จากการทำเกษตรทั้งก่อนและหลังนา ทำให้มีปัญหาหนี้สินและแรงงานภาคเกษตรต้องเคลื่อนย้ายออกไปรับจ้างในต่างประเทศจำนวนมาก
ปิดทองหลังพระฯ เริ่มการพัฒนาเมื่อชาวบ้านมีความพร้อมลงมือพัฒนาด้วยตัวเอง ด้วยการพัฒนาระบบน้ำ และปัจจัยการผลิตพื้นฐาน สามารถเพิ่มพื้นที่การเกษตรจาก 800 ไร่เป็น 1,850 ไร่ ผลผลิตข้าวเพิ่มขึ้นจาก 350 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 600 กิโลกรัมต่อไร่ ส่งเสริมการรวมกลุ่ม จัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่ชุมชนเป็นเจ้าของ บริหารจัดการกันเอง และเป็นหนึ่งในห้องเรียนของมหาวิทยาลัยที่มีชีวิต