มหกรรมเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง อนุรักษ์พืชพื้นถิ่นเพื่อความมั่นคงทางอาหาร

สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ร่วมกับ วิสาหกิจชุมชนคนร้อยพันธุ์รักษ์  จัดงาน “มหกรรมเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง : Seeds of Hope” ระหว่างวันที่ 21-22 มกราคม 2566 ที่ผ่านมา ณ ไร่อุ๊ยกื๋อ ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี เพื่อเผยแพร่องค์ความรู้ในการอนุรักษ์พันธุ์พืชพื้นถิ่นระหว่างเกษตรกรทั้งในพื้นที่และนอกพื้นที่ 

งานมหกรรมเมล็ดพันธุ์แห่งความหวัง เป็นส่วนหนึ่งที่ต้องการให้เกิดการอนุรักษ์พันธุ์กรรมพืชพื้นถิ่น สร้างความมั่นคงทางอาหารของชุมชน จากการแบ่งปันเมล็ดพันธุ์พืชที่ไม่ผ่านการตัดต่อทางพันธุกรรมที่เป็นเมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น ทั้งภายในชุมชนและระหว่างชุมชนทำให้เกษตรกรพึ่งพาตนเองได้

การจัดงานครั้งนี้ยังช่วยเกษตรมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตผลของสมาชิก อาหารแปรรูปจากแปลงของเกษตรกร พร้อมกับเผยแพร่องค์ความรู้ แลกเปลี่ยนประสบการณ์การอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พื้นถิ่น ระหว่างเกษตรกรเครือข่ายอนุรักษ์ฯ เกษตรกรจากชุมชนอื่น และหน่วยงานภายนอก ในลักษณะห้องปฏิบัติการทางสังคม (Social lab) 

และยังช่วยส่งเสริมวัฒนธรรมการทำบุญด้วยพันธุกรรมพืชพื้นถิ่นเป็นทุนพื้นฐานในการดำรงชีวิต และนำไปสร้างฐาน 4 พอ ที่ประกอบด้วย พอดี พอเพียง พอใจ และพึ่งตนเอง ให้กับตนเอง ครอบครัวและชุมชนอื่นๆ ต่อไป

ในงานมีการจัดแสดงและจำหน่ายเมล็ดพันธุ์พืชผัก พันธุ์ไม้ ไม้ประดับ ไม้ผล ไม้ป่า ที่เป็นผลผลิตจากแปลงเกษตรในตำบลแก่นมะกรูด จำนวนกว่า 100 ชนิด ให้กับเกษตรกรและผู้สนใจที่มาร่วมงาน และกิจกรรมทอดผ้าป่าเมล็ดพันธุ์ ซึ่งถือเป็นการเปิดโอกาสให้พันธุ์พืชท้องถิ่นของแก่นมะกรูดได้บอกเล่าเรื่องราวความสำคัญ สร้างมูลค่า และคุณค่าที่ควรอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชเหล่านี้ไว้

การอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชท้องถิ่น เป็นผลสืบเนื่องจากการทำงานตามแผนงานโครงการในพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูดของคณะทำงานที่ร่วมกับปิดทองหลังพระฯ เพื่อพัฒนาด้านการศึกษา สังคม และวัฒนธรรม โดยสถาบันฯ ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานสนับสนุนองค์ความรู้ให้กับเกษตรกรพื้นที่ต้นแบบในตำบลแก่นมะกรูด 

ระหว่างปี 2562-2563 มีการนำกลุ่มเกษตรกรตำบลแก่นมะกรูด ที่สนใจเรื่องเมล็ดพันธุ์พืชพื้นบ้าน ไปศึกษาเรียนรู้ ณ สวนพันพรรณ (โจน จันได) จังหวัดเชียงใหม่ และการอบรมเรื่องจำแนกลักษณะทางพันธุกรรมของพืชพื้นถิ่น ด้วยการไปศึกษาดูงานเครือข่ายเกษตรอินทรีย์ อำเภอสนามชัยเขต จังหวัดฉะเชิงเทรา ส่วนการจัดงานดังกล่าว เลื่อนมาจัดในปี 2566 ภายหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย

ปัจจุบันกลุ่มเกษตรกรแก่นมะกรูดได้รวมตัวกันจัดตั้งเป็น “วิสาหกิจชุมชนคนร้อยพันธุ์รักษ์” มีการทำกิจกรรมมาอย่างต่อเนื่องสร้างเครือข่ายอนุรักษ์เมล็ดพันธุ์พืชผักพื้นบ้าน และขยายออกไปสู่เครือข่ายโคก หนอง นา จังหวัดอุทัยธานี ในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ อำเภอลานสัก อำเภอหนองฉาง และอำเภอทัพทัน โดยการดำเนินโครงการสำรวจและอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพของพืชผักสมุนไพรพื้นถิ่นแก่นมะกรูดได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานพัฒนาเศรษฐกิจจากฐานชีวภาพ (องค์การมหาชน) 

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ