วันที่ 9 มกราคม 2568 นายกฤษฎา บุญราช
ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
เป็นประธานโครงการตัดแว่นสายตาให้กับราษฎรในโครงการศิลปาชีพ
เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลเนื่องในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร
มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร
นายกฤษฎา บุญราช กล่าวว่าตั้งแต่ช่วงปี
2527 เป็นต้นมาสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง
ที่ได้ทรงก่อตั้งกลุ่มศิลปาชีพบ้านโต๊ะโมะ ตำบลภูเขาทอง อำเภอสุคิริน
จังหวัดนราธิวาส เพื่อสนับสนุนให้ราษฎรที่มีความรู้ด้านถักทอผ้าพื้นเมืองรวมกลุ่มเป็นกลุ่มศิลปาชีพโดยได้พระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ก่อสร้างโรงทอผ้ารวมที่บ้านโต๊ะโมะ
โดยมีราษฎรในพื้นที่มาเรียนรู้การถักทอผ้าด้วยลวดลายที่ทันสมัยเป็นที่ต้องการของตลาดซึ่งได้ดำเนินการต่อเนื่องจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลากว่า
40 ปี สร้างอาชีพ สร้างรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้กับสมาชิกกลุ่ม และครอบครัว
ตลอดจนช่วยรักษาเอกลักษณ์ อัตลักษณ์ และภูมิปัญญา
ของพี่น้องราษฎรสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันและราษฎรสมาชิกบางที่สูงอายุเริ่มมีปัญหาด้ายสายตาซึ่งเป็นอุปสรรค
ในการทำงานหัตถกรรมศิลปาชีพ สถาบันปิดทองหลังพระฯจึงได้ร่วมกับจังหวัดนราธิวาส
โรงพยาบาลสุไหงโกลก โรงพยาบาลตากใบ โรงพยาบาลสุคิริน อำเภอสุคิริน และภาคเอกชน
ทำการตรวจวัดค่าสายตา และทำการตัดแว่นสายตาให้กับสมาชิกกลุ่ม
โดยมีผู้ที่จำเป็นจะต้องได้รับแว่นสายตา จำนวน 74 ราย
และจากการคัดกรองตรวจวัดสายตาพบว่ามีสมาชิกกลุ่มศิลปาชีพมีภาวะตาต้อกระจก จำนวน 14
ราย จึงได้ประสานงานส่งตัวเข้ารับการผ่าตัดตาต้อกระจกทั้ง 14 ราย
นายกฤษฎา ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า
สถาบันมีภารกิจในการน้อมนำแนวพระราชดำริ
และหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
บรมนาถบพิตร และพระปณิธาน สืบสาน รักษา ต่อยอด
ของพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มาแก้ไขปัญหาและพัฒนาศักยภาพการประกอบอาชีพและชีวิตความเป็นอยู่ของราษฎร
โดยดำเนินการใน 4 ด้าน ได้แก่ การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาอาชีพ การพัฒนาสิ่งแวดล้อม
และการพัฒนาสุขภาพพลานามัย ในด้านการพัฒนาสุขภาพพลานามัย
นอกจากการตรวจวัดและตัดแว่นสายตาให้กับราษฎรในครั้งนี้แล้ว สถาบันยังได้ร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทางด้านการแพทย์
และด้านสังคม ออกหน่วยทันตกรรม และจักษุแพทย์
เพื่อตรวจรักษาให้กับราษฎรในพื้นที่ห่างไกล
และมีข้อจำกัดในการเข้าถึงการรักษาพยาบาล
ในจังหวัดที่เป็นพื้นที่การทำงานของสถาบัน ตั้งแต่ปี 2560 จนถึงปัจจุบัน
ในส่วนของจักษุแพทย์ ได้ทำการออกหน่วยแพทย์ผ่าตัดต้อกระจกให้กับราษฎร รวม 12 ครั้ง
มีราษฎรได้รับการผ่าตัดกว่า 1,400 ราย
และจะยังคงดำเนินการอย่างต่อเนื่องต่อไป