10
ต.ค.
67
เมื่อวันที่ 9 ตุลาคม 2567 นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ พร้อมด้วย นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม ผู้ว่าราชการจังหวัดนครราชสีมาและคณะ ลงพื้นที่ติดตามผลการดำเนินงานตำบลต้นแบบการปรับปรุง พัฒนาแหล่งน้ำแบบครบวงจร ณ ตำบลบ้านยาง อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา
ผลจากการดำเนินงานโครงการพัฒนาแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก ในพื้นที่จังหวัดลุ่มน้ำมูล 9 จังหวัด ของสถาบันฯและหน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง ก่อให้เกิดการบูรณาการทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำเพื่อการเกษตร รวมไปถึงการอุปโภค บริโภค โดยการประสานสร้างความมั่นคงให้กับชุมชนโดยใช้ความร่วมมือระดับตำบล อำเภอ และระดับจังหวัด โดยเฉพาะที่ตำบลบ้านยาง อำเภอลำทะเมนชัย จังหวัดนครราชสีมา มีการจัดทำโครงการซ่อมแซมพัฒนาแหล่งน้ำในภารกิจของสถาบันฯ ตั้งแต่ปี 2565 จนถึงปี 2567 จำนวนทั้งสิ้น 13 โครงการ เป็นเงิน 6.36 ล้านบาท ซี่งก่อนหน้านั้นพื้นที่นี้เคยมีปัญหาน้ำแล้ง กักเก็บน้ำไม่เพียงพอ มีการแก้ไขปัญหาและพัฒนาร่วมกันของทุกภาคส่วนในด้านองค์ความรู้ เช่น เทคนิคช่างก่อสร้างฝาย การขุดลอกหน้าฝาย การใช้เทคโนโลยีภาพถ่ายทางอากาศ ด้านงบประมาณ จากจังหวัดนครราชสีมา เทศบาลตำบลบ้านยางและราษฎร รวม 665,000 บาท นำมาซึ่งการเพิ่มศักยภาพการกักเก็บน้ำเพิ่มมากขึ้น ราษฎรในพื้นที่สามารถมีน้ำไว้ใช้ในการเกษตรได้ตลอดทั้งปี
นายกฤษฎา กล่าวว่า “การทำงานร่วมกันของจังหวัด หน่วยงานระดับอำเภอ ตำบล และสถาบันฯ ที่เป็นการบูรณาการการทำงานแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำ เพื่อสร้างความมั่นคงให้กับชุมชน เปรียบเสมือนการสร้างบ้านที่มีไม้หลัก 4 เสา เสาแรก สถาบันฯ สนับสนุนงบประมาณซ่อมแซมโครงการ เสาที่ 2 นายกเทศมนตรีตำบลบ้านยางสนับสนุนงบประมาณในการขุดลอก เสาที่ 3 ผู้ว่าราชการจังหวัด สนับสนุนงบประมาณค่าน้ำมันเชื้อเพลิงในการขุดลอก เสาที่ 4 ราษฎรและชุมชน สมทบเงินกองทุน และเสียสละที่ดิน ทั้งนี้เมื่อมีน้ำแล้ว ควรที่จะส่งเสริมอาชีพให้กับราษฎร โดยสถาบันปิดทองหลังพระ จะหาตลาดให้”
นอกจากความสมบูรณ์ของแหล่งน้ำที่เพิ่มมากขึ้น สถานีพัฒนาที่ดินนครราชสีมา มีโครงการจัดทำระบบอนุรักษ์ดินและน้ำเพื่อปรับเปลี่ยนกิจกรรมการผลิตในพื้นที่ไม่เหมาะสม การบริหารจัดการดินและน้ำทั้งบนดินและใต้ดินในพื้นที่ภัยแล้ง งานสูบน้ำด้วยระบบท่อกระจายน้ำพลังงานแสงอาทิตย์แบบเคลื่อนที่และฝายชะลอน้ำ ศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวนครราชสีมา ได้มีการส่งเสริมอาชีพเกษตรในการปรับเปลี่ยนการทำนาแบบดั้งเดิม เป็นการทำนาเพื่อผลิตเมล็ดพันธ์ข้าว และช่วยรับซื้อข้าว โดยมีเจ้าหน้าที่ของศูนย์เมล็ดพันธ์ข้าวฯช่วยให้คำแนะนำและควบคุมคุณภาพของผลผลิต
แนวทางการทำงานโดยการมีส่วนร่วมของทุกฝ่าย โดยเฉพาะพี่น้องประชาชน เพื่อแก้ไขปัญหาให้กับพื้นที่ ในลักษณะร่วมคิด ร่วมทำ โดยน้อมนำแนวทางพระราชดำริ เป็นหลักในการทำงานเป็นสิ่งที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ มุ่งมั่นปฏิบัติร่วมกับหน่วยงานภาคีเครือข่ายอย่างจริงจัง