“สร้างคน และพัฒนาระบบงาน” เป็นหนึ่งในภารกิจสำคัญของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้าไปดำเนินการในพื้นที่ขยายผล เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดบริเวณแนวชายแดน 4 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา และแม่ฮ่องสอน
นอกจากการอบรมผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ผู้นำชุมชน ราษฎรในหมู่บ้าน กับหลักสูตรนักพัฒนาทางเลือกเพื่อเป็นทีมขับเคลื่อนงานระดับตำบล จนเกิดการพัฒนาระบบน้ำอุปโภคโดยชาวบ้านแล้ว “เพื่อสร้างศรัทธา”การต่อยอดภูมิปัญญาท้องถิ่น เช่นการทอผ้า ที่บ้านฮวกหมู่บ้านในตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา มีชื่อเสียงในเรื่อง “ผ้าทอเจ็ดสี”
เดิมบ้านฮวกมีการจัดตั้งกลุ่มผ้าทอเจ็ดสีที่ศูนย์ผ้าทอลานโพธิ์ในหมู่บ้านโดยนางลอง ธรรมศิริ ทำการเพาะปลูกต้นฝ้าย พันธุ์สีตุ่น (เนื้อฝ้ายสีน้ำตาล) และพันธุ์สีขาว พันธุ์เฉพาะของบ้านฮวก ทำให้ได้ผลผลิตเป็นเนื้อฝ้ายที่มีคุณภาพ ก่อนนำไปทอเป็นผืนผ่ากระบวนการทำด้ายจากฝ้าย จนถึงขึ้นกี่เพื่อทอเป็น “ผ้าทอเจ็ดสี”ต้องใช้ประสบการณ์ความชำนาญอย่างมาก อย่างไรก็ดีทางกลุ่มต้องการพัฒนาศักยภาพไปสู่การตัดเย็บเสื้อผ้าเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผ้าทอ และขยายช่องทางการตลาดเป็นที่มาของโครงการฝึกอบรมอาชีพตัดเย็บและแปรรูป “ผ้าทอเจ็ดสี”โดยผ่านประชามติจากการจัดประชาคมหมู่บ้าน ที่เห็นว่ามีความสำคัญเป็นอันดับแรกในการจัดทำแผนพัฒนาหมู่บ้านปี 2564-2565 เพื่อกระตุ้นให้เกิดการสร้างงาน สร้างรายได้พัฒนาเศรษฐกิจของชุมชนให้เข้มเข็ง การอบรมทั้งเรื่องการตัดเย็บขั้นพื้นฐาน กับการตัดเย็บและแปรรูป “ผ้าทอเจ็ดสี”เกิดขึ้นโดยความร่วมมือระหว่างสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงานจังหวัดพะเยา ที่ว่าการอำเภอภูซาง อบต.ภูซาง กศน.อำเภอภูซาง กลุ่มตัดเย็บผ้าทอเจ็ดสี และสถาบันฯ ปิดทองหลังพระฯ
“กลุ่มผ้าทอเจ็ดสีเห็นโอกาสในการต่อยอดองค์ความรู้เดิม ให้คนรุ่นใหม่ในชุมชนที่สนใจ และสมาชิกเดิมที่ยังขาดทักษะเรื่องการออกแบบ ตัดเย็บ และแปรรูปเป็นเสื้อผ้าสำเร็จรูป เพราะจะมีส่วนช่วยในการเพิ่มรายได้ และยังสามารถรักษาเอกลักษณ์เฉพาะของผ้าทอเจ็ดสีไว้ได้”
บ้านฮวก”หมู่ 12 ตำบลภูซาง อำเภอภูซาง จังหวัดพะเยา มีประชากร 616 คนจำนวน 249 ครัวเรือน หมู่บ้านชายแดนติดกับเมืองคอบ แขวงไชยบุรี สปป.ลาว ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพการเกษตร งานหัตถกรรม ค้าขาย และการบริการเป็นหนึ่งในพื้นที่ขยายผล เพื่อแก้ปัญหายาเสพติดบริเวณแนวชายแดน 4 จังหวัดภาคเหนือ เชียงใหม่, เชียงราย, พะเยา และแม่ฮ่องสอน โดยดำเนินการตามรูปแบบการแก้ปัญหาของโครงการร้อยใจรักษ์ อำเภอแม่อาย จังหวัดเชียงใหม่
ก่อนเกิดโครงการต่อยอดองค์ความรู้เรื่องการทอผ้า ไปสู่การตัดเย็บเสื้อผ้าให้กับกลุ่มผ้าทอเจ็ดสีที่ผ่านมติจากการประชาคมหมู่บ้านไม่น้อยกว่าร้อยละ 80 การอบรมผู้นำชุมชนและตัวแทนหมู่บ้าน ได้เสนอโครงการเร่งด่วนเพื่อพัฒนาระบบน้ำโดยการติดตั้งโซล่าเซลล์พร้อมวางท่อในหมู่บ้าน โครงการนี้อบต.ภูซางสนับสนุนงบประมาณ 176,400 บาทโครงการชลประทานพะเยาดูแลด้านเทคนิค มีผู้รับประโยชน์จากโครงการนี้ 185 ครัวเรือน
“ตามแนวทางการพัฒนาของปิดทองหลังพระฯ เมื่อผู้นำชุมชน ตัวแทนหมู่บ้านผ่านการอบรมแล้ว ต้องมีการฝึกอบรมและปฏิบัติจริงโดยให้ชุมชนเสนอ 1 โครงการ เพื่อแก้ปัญหาพื้นที่ตามสภาพความเป็นจริง โดยชาวบ้านร่วมกำหนดทิศทางการพัฒนา การจัดทำเป็นแผนหมู่บ้านก็เกิดจากชาวบ้านมีส่วนร่วม” ส่วนราชการระดับท้องถิ่น อำเภอ และจังหวัดหนุนเสริมเต็มที่