13
ก.ค.
65
เกษตรกร 3 จังหวัดอีสาน กาฬสินธุ์ ขอนแก่นและอุดรธานีตื่นตัวเข้าร่วมโครงการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ด้วยความมั่นใจหวังเป็นพืชเศรษฐกิจสร้างรายได้ที่มั่นคงในภาวะวิกฤตโลกขาดแคลน
ตามที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ริเริ่มทำโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ โดยร่วมกับจังหวัดอุดรธานี ขอนแก่นและกาฬสินธุ์ กรมส่งเสริมการเกษตร และ บริษัทเจริญโภคภัณฑ์โปรดิ๊วส จำกัด เพื่อสร้างโอกาสเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรในยุควิกฤตเศรษฐกิจและได้รับความรู้ด้านเทคโนโลยีการผลิตแบบใหม่ที่ทันสมัยได้ผลผลิตที่มีคุณภาพ พร้อมกับการช่วยชาติลดปัญหาขาดแคลนวัตถุดิบจากผลกระทบสงครามรัสเซีย-ยูเครนไปพร้อมกัน
นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ กล่าวกับเกษตรกรที่เข้าร่วมกิจกรรมการหยอดเมล็ดพันธุ์ข้าวโพดในโครงการต้นแบบปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ที่จังหวัดอุดรธานีว่า จากการวิเคราะห์คาดการณ์ว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งกำลังขาดแคลนมากในเวลานี้ ทั้งตลาดในประเทศไทยและตลาดโลก จะทำให้ข้าวโพดมีราคาสูงขึ้นอีกมาก สถาบันฯ จึงแนะนำให้เกษตรกรทดลองปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ก่อนฤดูการทำนา โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการจะได้รับเมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย สารกำจัดศัตรูพืช การสนับสนุนเครื่องจักรกลการเกษตรที่ทันสมัย เช่น โดรนพ่นยา เครื่องหยอดเมล็ด เครื่องหยอดปุ๋ย การดูแลแนะนำอย่างใกล้ชิดตลอดกระบวนการผลิต และความรู้เพื่อเพิ่มผลผลิตต่อไร่ จากการปลูกแบบเดิมที่จะได้ผลผลิต 700-800 กิโลกรัมต่อไร่ เป็น 1,300 กิโลกรัมต่อไร่ พร้อมทั้งหลักประกันในการเข้ามารับซื้อถึงแปลง และการกำหนดราคารับซื้อขั้นต่ำที่แน่นอน จะทำให้เกษตรกรมั่นใจได้ว่า เมื่อเข้าร่วมโครงการฯ แล้วจะมีรายได้ที่น่าพอใจและมากกว่าพืชอื่น
“อย่างไรก็ตาม โครงการฯ ต้องขอความร่วมมืองดการเผาตอซังข้าวโพด ที่จะทำให้เกิดมลพิษในอากาศและเป็นอันตรายต่อสุขภาพ โดยหันมาไถกลบให้เกิดกระบวนการย่อยสลาย กลายเป็นธาตุอาหารในดินสำหรับพืชต่อไป รวมทั้งต้องปลูกในพื้นที่ที่ถูกกฎหมายด้วย ”
นายกฤษฎา กล่าวอีกว่าปิดทองหลังพระฯ จะทําหน้าที่ประสานทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนราชการ เอกชนและเกษตรกรมาร่วมกันดำเนินงานโครงการนี้ เพื่อให้เกษตรกรได้รับประโยชน์มากที่สุด นอกจากนี้ขอเชิญชวนภาคเอกชนอื่นๆ ที่สนใจต้องการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้อย่างยั่งยืนสามารถติดต่อเข้าร่วมในโครงการนี้ได้เช่นกัน
ทางด้านเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ เช่น นายบุญมาก สิงห์คำป้อง เกษตรกรบ้านแสงอร่าม ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี กล่าวว่า ที่สนใจเข้าร่วมโครงการ แม้จะเคยปลูกแต่มันสำปะหลังมาก่อน เพราะเห็นว่าข้าวโพดเป็นพืชระยะสั้น ได้ผลผลิตเร็ว ไม่ต้องดูแลมาก และยิ่งมั่นใจเมื่อปิดทองหลังพระฯ มีการประสานหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนมาดูแลอย่างดี และยังมีการรับรองราคาที่แน่นอนให้ เลยคิดว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นรายได้เสริมที่น่าสนใจ “ผลผลิตต่อไร่หักค่าใช้จ่ายแล้ว สามารถสร้างรายได้เพิ่มขึ้นมา 3,000-4,000 บาท หากทำได้ดีก็จะขยายพื้นที่ปลูกออกไปอีก”
ส่วนนางสุวิมล จันทร์เพ็ง เกษตรกร ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น กล่าวว่า เดิมพื้นที่ของตนปลูกอ้อย มันสำปะหลัง ซึ่งมักประสบปัญหาเรื่องผลผลิตต่ำ ไม่มีคุณภาพและต้นทุนสูง เมื่อได้รับคำแนะนำให้เปลี่ยนมาปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ก็คิดว่า การที่มีหลายหน่วยงานเข้ามาช่วยเหลือ ดูแลทั้งการปลูกและการตลาด ทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องทำเองโดยลำพัง จึงมั่นใจว่าจะสามารถทำได้ และโครงการฯนี้ จะช่วยให้พัฒนาการทำเกษตรได้ดีขึ้นยกระดับคุณภาพผลผลิตและมีรายได้มากขึ้น
นางน้อย สุทธิทักษ์ เกษตรกรบ้านทรัพย์เจริญ ต.สามัคคี อ.ร่องคำ จ.กาฬสินธุ์ แสดงความมั่นใจเช่นเดียวกันว่า หลังจากได้ทราบแนวทางการส่งเสริมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องแล้ว จึงตัดสินใจเข้าร่วมโครงการด้วยความเชื่อมั่นว่าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จะเป็นพืชเศรษฐกิจทางเลือกใหม่ที่สร้างรายได้ดีกว่าปลูกข้าว และยังเป็นพืชที่ดูแลง่าย ใช้พื้นที่น้อย ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า เมื่อเปรียบเทียบกับราคาข้าวเปลือกที่ขณะนี้อยู่ที่กิโลกรัมละ 5 บาท ราคารับซื้อเมล็ดข้าวโพดเลี้ยงสัตว์มีการรับรองที่ไม่น้อยกว่ากิโลกรัมละ 8.50 บาท จึงอยากจะเชิญชวนเกษตรกรในพื้นที่มาร่วมกันปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้มากขึ้นอีกด้วย
จนถึงขณะนี้ มีเกษตรกรในพื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ สามจังหวัด แสดงความสนใจจะเข้าร่วมโครง การฯ แล้ว 265 ราย พื้นที่ปลูกรวม 1,536 ไร่ และคาดว่าหลังการทำประชาคมในเดือนสิงหาคมนี้ จะมีผู้สนใจเข้าร่วมโครงการฯ เพิ่มมากขึ้น