นายพงษ์พันธ์ เขียวจันทร์ หัวหน้าพื้นที่ต้นแบบบ้านละโพ๊ะ จังหวัดปัตตานี กล่าวว่าจากสถานการณ์ การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ไม่เพียงกระทบต่อสุขภาพที่ยอดตัวเลขผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นรายวันเท่านั้น แต่ยังกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนด้วย เช่นเดียวกับวิสาหกิจชุมชนบ้านละโพ๊ะ ที่ได้รับผลกระทบ จากสถานการณ์ดังกล่าว ทำให้ไม่สามารถจำหน่ายผลผลิตตามตลาดได้เช่นปกติ สมาชิกจำนวน 22 ราย ภายในกลุ่มจึงลงมติขายผลผลิตของกลุ่ม “แบบออนไลน์” พร้อมมีบริการส่งสินค้าทุกวันอังคารและวันพฤหัสบดี ถึงหน้าบ้านลูกค้า โดยมีขั้นต่ำการสั่งซื้อที่ 50 บาท ฟรีค่าส่ง ครอบคลุมพื้นที่ตัวเมืองจังหวัดปัตตานี เพื่อเป็นอีกช่องทางกระจายผลผลิตการเกษตรและลดการสัมผัสการรับเชื้อในช่วงโควิด-19 แบบนี้
ขณะที่นางสาวปวณี เขียวจันทร์ สมาชิกวิสาหกิจชุมชนเกษตรผสมผสานบ้านละโพ๊ะ กลุ่มว่า ส่วนตัวเรียนจบการบริหารจัดการ จากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย จึงมีโอกาสได้นำความรู้เรื่องการบริหารจัดการการวางแผนในการส่งสินค้าอย่างไรให้เกิดความคุ้มค่าและครอบคลุมมากที่สุดตรงนี้มาช่วย นอกจากนี้ก็ได้อาสาเป็นแอดมินเปิดเพจชื่อ “พื้นที่ต้นแบบบ้านละโพ๊ะ” รับหน้าที่ถ่ายภาพผลผลิตทางการเกษตรของกลุ่ม อาทิ ผักสลัด กรีนโอค เรดโอ๊ค ผักชี ต้นหอม มะเขือยาว มะเขือเปราะ ผักกาด ผักบุ้ง ต้นหอม ไข่ไก่ ฯลฯ สำหรับโพสต์บนสื่อโซเซียล ตลอดจนรับสายเป็นตัวแทนประสานงาน จัดส่งสินค้าของกลุ่มสู่ลูกค้า โดยลูกค้าส่วนใหญ่เป็นลูกค้ารายเก่าและมีลูกค้ารายใหม่เพิ่มขึ้นทุกวัน ซึ่งทางกลุ่มเริ่มขายออนไลน์จริงจังมาได้ 5 เดือนแล้ว รายได้ต่อเดือน ราว 50,000 บาท เฉลี่ยต่อคนอยู่ที่ 4,000 บาทต่อเดือนเป็นรายได้เสริมให้กับชาวบ้าน ทั้งนี้ก็อยู่เกษตรกร เพราะปลูกมาก็ได้มาก ส่วนตัวเห็นว่าตอนนี้สมาชิกกำลังขยัน มีกำลังใจในการปลูก แต่สิ่งสำคัญต้องไม่ลืมเรื่องความปลอดภัย และคุณภาพผักต้องคงที่ เช่น ผักกาดขาว หนึ่งต้นต้องได้ 7 ขีดอย่างต่ำ นั่นคือคุณภาพ เพราะเหล่านี้คือสิ่งที่ทำให้ผลผลิตจากวิสาหกิจชุมชนที่นี่เป็นที่ต้องของการตลาด
ปัจจุบันวิสาหกิจเกษตรผสมผสานบ้านละโพ๊ะ อยู่ระหว่างการขยายพื้นที่ปลูกเพิ่มเติม นอกจากแปลงผักรวมของกลุ่มแล้ว สมาชิกแต่ละครอบครัวยังใช้พื้นที่รอบบ้านเป็นแปลงเกษตรร่วมด้วย เพื่อให้ผลผลิตมีมากพอกับความต้องการของลูกค้า อนาคตในปี 2565 ทางองค์การบริหารส่วนจังหวัดปัตตานีมีแผนจะเข้ามาส่งเสริมสร้างโรงเรือนพื้นที่ 1 งาน เพื่อให้ชาวบ้านมีพื้นที่ปลูกผักและมีรายได้ตลอดทั้งปีต่อไป
“ ตอนนี้พื้นที่ต้นแบบบ้านละโพ๊ะ ประสบความสำเร็จแล้วในระยะหนึ่ง ชาวบ้านอยู่ได้ด้วยตัวเองแล้ว รู้วิธีการปลูก รู้วิธีการขาย การกระจายสินค้า การตลาดที่นี่ไม่มีปัญหาและไปได้ดีมากแม้จะเกิดสถานการณ์วิกฤติ ชาวบ้านบูรณาการร่วมกับภาคีเครือข่ายได้แล้ว ทางกลุ่มรู้จักดึงหน่วยงานเข้ามาดูแล สิ่งที่ปิดทองหลังพระฯ ส่งเสริมเรื่องโครงสร้างพื้นฐานวันนั้นจนเกิดการรวมกลุ่มขึ้น วันนี้ อบจ.เห็นความสำคัญและมาต่อยอดกิจกรรมที่ปิดทองส่งเสริม ผมรู้สึกภูมิใจและยินดีมากแทนชาวบ้าน” นายพงษ์พันธ์กล่าวทิ้งท้าย