บ้านท่านางเลื่อน ต.ชนบท อ.ชนบท จ.ขอนแก่น ได้รับ “โครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ” หรือ “โครงการโควิดปิดทองหลังพระฯ ระยะที่ 2” ที่หน่วยงานภาครัฐ เอกชน ชุมชน และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ช่วยกันซ่อมแซมคลองส่งน้ำ ระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ผันน้ำจากลำน้ำชีเข้าสู่แหล่งน้ำสาธารณะภายในพื้นที่การเกษตร
ชาวบ้านส่วนใหญ่ในพื้นที่ ปลูกข้าว ปลูกผัก โดยอาศัยแหล่งน้ำสาธารณะภายในพื้นที่เป็นหลัก ซึ่งมีคลองส่งน้ำที่เชื่อมโยงน้ำมาจากแม่น้ำชีไหลเข้ามาเติมอยู่เสมอ แต่เมื่อระยะเวลาผ่านไปกว่า 20 ปี สภาพคลองส่งน้ำก็ชำรุดทรุดโทรม มีรอยแตกร้าว รั่วซึม ขาดการบำรุงรักษา ลำเลียงน้ำมาได้น้อย ปลูกข้าวปลูกผักได้ไม่งาม ไม่ได้คุณภาพ ปริมาณผลผลิตตกต่ำ ทำให้เกษตรกรลำบากต้องพยายามดิ้นรนหาน้ำมาใช้ทำการเกษตร
นางสาวนัฐกมล แน่นอุดร เกษตรกร smart farmer บ้านท่านางเลื่อน กล่าวว่าตนเองทราบข่าวจากจังหวัดว่าปิดทองหลังพระฯ มีโครงการซ่อมแซมพัฒนาแหล่งน้ำ ก็เลยหารือกันกับผู้นำชุมชนและเกษตรกรในพื้นที่ว่าอยากให้โครงการเข้ามาช่วยเหลือ จึงเข้าไปเสนอเรื่องการซ่อมแซมคลองดาดส่งน้ำที่ชำรุดเสียหายกับหน่วยที่เกี่ยวข้อง และได้รับพิจารณาเข้าร่วมโครงการเมื่อปลายปี 2563 คลองดาดส่งน้ำนี้ ใช้ผันน้ำมาจากลำน้ำชีเข้ามาเก็บในแหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่ เพื่อใช้ปลูกข้าว ปลูกผัก แต่ใช้งานมานานแล้ว กว่า 20 ปี มีสภาพชำรุดเสียหาย ชาวบ้านต้องดิ้นรนหาน้ำกันเองมานานกว่า 4-5 ปีแล้ว พอมีโครงการเข้ามา เกษตรกรก็เห็นประโยชน์ สละเวลามาช่วยกันซ่อมคลอง มากันทุกวัน มากบ้าง น้อยบ้าง บางวัน 20 คน บางวัน 7-8 คน ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนก็เสร็จ ตอนนี้น้ำเต็มนาข้าวเลย
โครงการซ่อมแซมคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตร ดำเนินการเสร็จในเดือนมิถุนายน 2563 ผันน้ำจากลำน้ำชีผ่านคลองดาดส่งน้ำเข้าสู่แหล่งน้ำสาธารณะในพื้นที่บ้านท่านางเลื่อนในระยะทางกว่า 2 กิโลเมตร ผ่าน 3 หมู่บ้าน ช่วยให้เกษตรกรกว่า 600 ครัวเรือน มีน้ำใช้ในพื้นที่การเกษตร 300 ไร่ โดยปิดทองหลังพระฯ สนับสนุนค่าปูน ค่าวัสดุอุปกรณ์และเกษตรกร ชาวบ้าน จิตอาสาในพื้นที่มาร่วมลงแรง ช่วยให้เกษตรกรมีน้ำทำการเกษตร บรรเทาผลกระทบภัยแล้ง และเศรษฐกิจตกต่ำ
นอกจากนี้ เกษตรกรในพื้นที่อยู่ระหว่างการพัฒนาตนเอง มีแผนยกระดับทำเกษตรปลูกผักแปลงใหญ่ มีการเชื่อมโยงกับหน่วยงานภายนอก เช่น กรมวิชาการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร ให้เข้ามาอบรมเสริมความรู้และเทคนิคการพัฒนาปรับปรุงดิน การผลิตปุ๋ยชีวภาพเพื่อเพิ่มคุณภาพและปริมาณของผลผลิต รวมถึงการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การเชื่อมโยงเครือข่ายเกษตรกร และการตลาดอีกด้วย