น่าน เป็นพื้นที่ต้นแบบ 1 ใน 9 จังหวัด พื้นที่ต้นแบบที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ เข้าไปดำเนินโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ เพื่อลดผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระหว่างเดือนตุลาคม 2563 ถึง พฤษภาคม 2564 เริ่มจากการจ้างผู้ว่างงานผู้รับผลกระทบเป็น พนักงานโครงการ กับอาสาสมัครพัฒนาหมู่บ้าน เพื่อร่วมกับชุมชน เริ่มดำเนินการพัฒนา ปรับปรุง ซ่อมเสริมแหล่งน้ำที่ผ่านการคัดเลือก 166 โครงการ ในพื้นที่ 14 อำเภอ จำนวน 14,673 ครัวเรือน พื้นที่รับประโยชน์ 26,592 ไร่
โครงการนำร่องเพื่อต่อยอดกิจกรรมด้านการเกษตร เป็นแผนงานที่สำนักงานเกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน เตรียมดำเนินการในระยะต่อไป โดยมีหน่วยงานในสังกัดที่ทำหน้าที่รับผิดชอบ 14 หน่วยงานปฏิบัติงานในทุกอำเภอสามารถประสานงานเชื่อมแผนการต่อยอดอาชีพการเกษตรทั้ง 166 โครงการ ได้ต่อเนื่อง ทางจังหวัดได้แบ่งโครงการ เป็น 2 ระยะ คือโครงการพื้นที่สูง 38 โครงการ 6 อำเภอ จะเริ่มนำร่องต่อยอดกิจกรรมด้านการเกษตร บรรจุเป็นแผนระยะสั้น ในแผนพัฒนาเกษตรและสหกรณ์ระบบจังหวัด ปี 2565 ส่วนโครงการพื้นที่ราบ เช่น พื้นที่นา จำนวน 128 โครงการ 12 อำเภอ เป็นแผนระยะกลางและยาว ของแผนพัฒนาเกษตรและสหกรณ์ระบบจังหวัด (พ.ศ. 2566-2570)
นายอดิศร จันทรประภาเลิศ เกษตรและสหกรณ์จังหวัดน่าน กล่าวว่า ในปีงบประมาณ 2565 นี้ได้วางแนวทางดำเนินการในโครงการพื้นที่สูงนำร่องก่อน 38 โครงการ เป็นการดำเนินการระยะสั้น ส่วนระยะกลางและระยะยาว ในปีงบประมาณ 2566 ถึง 2570 จะเป็นการพัฒนาการเกษตรในพื้นที่ราบ เป็นการพัฒนาเชิงพื้นที่ตามศักยภาพของเกษตรกร ในจำนวนโครงการที่เหลืออีก 128 โครงการ 12 อำเภอเช่นกัน โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยว
จังหวัดน่านมุ่งเน้นเรื่องแก้ปัญหาการปลูกพืชเชิงเดี่ยว ที่ส่งผลเสียต่อสภาพพื้นที่ในระยาว พัฒนาไปสู่การปลูกผสมผสานตามแนวทางเกษตรทฤษฏีใหม่ ทำให้เกษตรกรในพื้นที่สูงและพื้นที่ราบได้มีโอกาสต่อยอดการทำเกษตรและสามารถใช้น้ำจากแหล่งน้ำที่ได้พัฒนาปรับปรุงไปแล้วให้เกิดประโยชน์สูงสุด เป็นการเพิ่มโอกาสแก่ชุมชน เกษตรกร อย่างทั่วถึง หากโครงสร้างพื้นฐานในเรื่องน้ำได้รับการแก้ไข และมีการบริหารจัดการที่ดี จะส่งผลต่อการพัฒนาเชิงพื้นที่ด้านการเกษตรให้กับชุมชนอย่างแท้จริง
น่านมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นที่ราบสูง มีข้อจำกัดเรื่องการทำเกษตรพันธ์พืชที่เหมาะสมการทำเกษตรผสมผสาน ที่จังหวัดเคยสนับสนุนไปแล้วประสบความสำเร็จ อาทิ กาแฟ โกโก้ อย่างกาแฟก็เริ่มสร้างชื่อเสียงเป็นที่รู้จักในตลาดมากขึ้น ได้รับความนิยมจากนักท่องเที่ยว และเคยได้รับรางวัลพระราชทาน เป็น Special Coffee ถือว่ายังมีโอกาสที่ดี ต่างจากพืชเชิงเดี่ยว เช่นข้าวโพดซึ่งส่งผลต่อสภาพพื้นที่มาก่อน พืชที่เป็นกระแสในตลาด ก็ไม่สามารถแข่งขันได้ จึงต้องพืชที่เหมาะสมเพื่อเพิ่มโอกาสเกษตรกร เมื่อมีแหล่งน้ำที่ดีก็สร้างโอกาส และทางเลือกเสริมได้ในอนาคต
การต่อยอดทำการเกษตรของน่าน นอกจากปรับเปลี่ยนพื้นที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวแล้ว ยังมีเรื่องของการเพิ่มประสิทธิภาพจากพืช กับไม้ผลเดิมที่มีอยู่แล้ว การทำงานเป็นไปตามขั้นตอนที่ได้ร่วมมือกับทางปิดทองหลังพระฯและหน่วยงานในจังหวัด หลังจากพัฒนาด้านการเกษตร พัฒนาศักยภาพเกษตรกร จากนั้นก็จะสนับสนุนให้เกิดการรวมกลุ่มในพื้นที่ ชุมชน ต่อยอดเชื่อมโยงกับตลาดภายนอกจนนำไปสู่การยกระดับสู่มาตรฐานสินค้าเกษตรในระยะยาว
“การทำโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ ที่ร่วมกับปิดทองหลังพระฯ ถือว่าได้ประโยชน์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของน้ำเพื่อการเกษตรที่สามารถใช้ได้เต็มศักยภาพของน้ำต้นทุน มีการวางแผนการใช้น้ำให้สอดคล้องกับการเพาะปลูกพืชในแต่ละช่วงเวลาได้ใช้น้ำให้เกิดประโยชน์สูงสุด และสร้างอาชีพ สร้างรายได้ ภายใต้ศักยภาพของพื้นที่และตัวเกษตรกร”
การสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชน และความร่วมมือของภาครัฐ นายอดิศรกล่าวว่า ได้เน้นวิธีการ “หากชุมชนไม่พร้อม-ไม่ทำ”เพื่อให้เกิดการพัฒนาแบบมีส่วนร่วม “ระเบิดจากข้างใน” จะส่งผลให้เกิดความยั่งยืนได้
พื้นที่นำร่องดำเนินการต่อยอดกิจกรรมด้านการเกษตร ภายใต้โครงการฯ ในปีงบประมาณ 2565 มี 6 อำเภอ ประกอบด้วย ท่าวังผา 2 โครงการ ทุ่งช้าง 1 โครงการ สองแคว 7 โครงการ เฉลิมพระเกียรติ 4 โครงการ นาน้อย 10 โครงการ และ นาหมื่น 14 โครงการ รวม 2,505 ครัวเรือน พื้นที่ 14,407 ไร่
19 ก.ค. 66
10 ต.ค. 65
26 ก.ย. 65