นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่จังหวัดยะลา ได้เป็นประธานประชาสัมพันธ์ โครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณเพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ โดยมี นายสุพจน์ รอดเรือง ณ หนองคาย ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา นายสนั่น สนธิเมือง รองผู้ว่าจังหวัดปัตตานี นายไพโรจน์ จริตงาม รองผู้ว่าจังหวัดนราธิวาส หัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ ผู้แทนสภาเกษตรกรกลุ่มเกษตรแปลงใหญ่ เข้าร่วม
สำหรับจุดเริ่มต้น โครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณเพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ เกษตรกรชาวสวนทุเรียนในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประสบปัญหาการถูกกดราคาทำให้จำหน่ายทุเรียนได้ในราคาต่ำมาเป็นเวลานาน จนเมื่อสถาบันปิดทองหลังพระฯ เข้าไปดำเนินงานพัฒนาในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ในปี 2561 จึงมีเกษตรกรผู้ปลูกทุเรียนจำนวนมากร้องขอให้ช่วยเหลือ
กระบวนการดำเนินงานของสถาบันปิดทองหลังพระฯ ภายใต้ความร่วมมือบูรณาการจากทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐและภาคเอกชน โดยเฉพาะส่วนราชการสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จังหวัดปัตตานี นราธิวาส และยะลา ได้น้อมนำแนวพระราชดำริและหลักการทรงงานของพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เริ่มต้นจากการทำความ “เข้าใจ” พบว่าสาเหตุของปัญหามาจากคุณภาพของทุเรียนที่ขาดการดูแลที่ดีในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การดูแลการบำรุงต้นไปจนถึงการเก็บเกี่ยว รวมทั้งสภาพภูมิอากาศที่ทำให้มีหนอนเจาะเมล็ด ผลมีหนามแดง ต้องจำหน่ายแบบเหมาสวน จากนั้นจึง “เข้าถึง” เกษตรกร โดยการคัดเลือกเกษตรกรที่มีความขยันหมั่นเพียร ใจสู้ และมีความพร้อมที่จะพัฒนาคุณภาพทุเรียน มาเรียนรู้การดูแลบำรุงรักษาสวนทุเรียน โดยเข้าร่วมกับโครงการก่อนทำตามขั้นตอนในคู่มือการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพของสถาบันปิดทองหลังพระฯ และจัดทำขั้นตอนในการดำเนินงานโครงการ ตั้งแต่ต้นทาง กลางทาง และปลายทาง เพื่อเข้าสู่กระบวนการ “พัฒนา” เริ่มจากต้นทาง คือ การให้ความรู้ในการพัฒนาคุณภาพทุเรียน ตั้งแต่การจัดการบำรุงรักษาดินและน้ำในแปลงการดูแลตามระยะการเจริญเติบโต การบูรณาการทำงานร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กลางทาง คือ การติดตามความก้าวหน้าและให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอน จนถึงการเก็บเกี่ยวให้ได้คุณภาพตามที่ตลาดต้องการ คือ ทุเรียนต้องไม่อ่อน มีปริมาณแป้งไม่ต่ำกว่าร้อยละ 32 และปลายทาง คือ เชื่อมโยงตลาดพันธมิตรที่ให้การสนับสนุนในการรับซื้อทุเรียน เพื่อสร้างมาตรฐานการรับซื้อ การคัดคุณภาพ และการรวบรวมผลผลิต เพื่อส่งออกไปจำหน่ายยังต่างประเทศทำให้ในปัจจุบันเกษตรกรชาวสวนทุเรียนในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพมีรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่เกษตรกรมีสวนทุเรียน 5 ไร่ เคยมีรายได้ประมาณ 5-6 หมื่นบาท ต่อมาเมื่อได้ทำตามขั้นตอนคำแนะนำในการดูแลสวนทุเรียนสถาบันปิดทองหลังพระฯ แล้ว ในปัจจุบันมีรายได้เพิ่มขึ้นเป็น 5-6 แสนบาทต่อฤดูการผลิตทุเรียน
นายกฤษฎา บุญราช ประธานกรรมการสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ เผยว่า ขณะนี้ทุเรียนในโครงการฯ ไม่มีปัญหาทุเรียนอ่อน ทุเรียนมีหนอนรู แล้ว ดังนั้น สถาบันฯ เริ่มส่งเสริมเกษตรกรให้เป็นทั้งผู้ผลิตและผู้จำหน่าย เข้าไปมีส่วนร่วมกับล้งรับซื้อทุเรียนในตลาดกลางจังหวัดยะลา ทำให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งกันและกัน มีข้อตกลงระหว่างกัน และในปี 2565-2566 สถาบันปิดทองหลังพระฯ ได้เริ่มแนะนำให้เกษตรกรมีการค้าขายออนไลน์มากขึ้น เพื่อเพิ่มช่องทางในการขายทุเรียนและมีรายได้มากขึ้น ทั้งนี้ สิ่งสำคัญคือทำให้เกษตรเรียนรู้กระบวนการตั้งแต่ เริ่มต้นการปลูก การดูแล การจำหน่าย ค้าขายตามล้งทุเรียนและออนไลน์ ช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตของเกษตรกรมากยิ่งขึ้น เมื่อเกษตรกรมีความเข้มแข็งแล้ว ต่อไปทางสถาบันฯ ก็จะมีการขยับขยายเข้าไปส่งเสริมอาชีพอื่น ๆ เช่น การเลี้ยงแพะนม แพะเนื้อ และหาพืชเกษตรกรรมตัวใหม่ อาทิ กาแฟ กล้วย มะพร้าว มาส่งเสริมให้เกษตรกรได้พิจารณา และประการสำคัญคือพืชชนิดใหม่ที่จะมาแนะนำเกษตรกรนั้น สถาบันปิดทองหลังพระฯ จะหาตลาดไว้รองรับก่อนด้วย
จากนั้น นายกฤษฎาและคณะ ได้เดินทางต่อไปยังล้งทุเรียนพันธมิตรรับซื้อทุเรียน ของนางจันทร์ทิพย์ ลิยะบงค์ เจ้าของล้งรับซื้อทุเรียน บริเวณแยกมาลายูบางกอก อ.เมือง จ.ยะลา ร่วมกับหัวหน้าส่วนราชการ ผู้แทนสมาชิกเครือข่ายวิสาหกิจชุมชนทุเรียนคุณภาพจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อติดตามกระบวนการรับซื้อทุเรียนคุณภาพของโครงการ พร้อมทั้งเยี่ยมชมกระบวนการรับซื้อ การคัดเกรดคุณภาพทุเรียน และการบรรจุภัณฑ์ เป็นไปตามมาตรฐานของโครงการปรับปรุงคุณภาพและปริมาณเพื่อเพิ่มมูลค่าทุเรียนในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ภายใต้การขับเคลื่อนของสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ