จิตรกรรมบนผืนนา เฉลิมพระเกียรติสองรัชกาล

“พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ ๙” และสัญลักษณ์ “๑๐ ทรงพระเจริญ” จากต้นข้าว กลางแปลงนาเกษตรกร บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม พื้นที่ต้นแบบปิดทองหลังพระฯ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี

เกษตรกรต้นแบบ บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม โครงการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับมหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี ปักดำนาข้าวเป็น “พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ ๙” และ สัญลักษณ์“ ๑๐ ทรงพระเจริญ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติในการนำความรู้ศาสตร์พระราชาและแนวพระราชดำริเกษตรผสมผสาน มาประยุกต์ใช้ส่งเสริมอาชีพ พัฒนาคุณภาพชีวิตจนดีขึ้น พร้อมริเริ่มเกษตรเชิงท่องเที่ยว เพื่อเป็นแหล่งความรู้ให้กับเยาวชนและเกษตรกรในพื้นที่

อาจารย์ชาลี ศรีสุพล อายุ ๕๙ ปี อาจารย์โรงเรียนหนองแวงชุมพล ต.กุดหมากไฟ อ.หนองวัวซอ จ.อุดรธานี และเกษตรกรเจ้าของแปลงนา เล่าว่าตนเองเป็นทั้งอาจารย์และเกษตกรต้นแบบในพื้นที่โครงการปิดทองหลังพระฯ ใช้เวลาว่างหลังจากสอนหนังสือมาทำแปลงเกษตรปลูกข้าวในพื้นที่บริเวณรอบอ่างเก็บน้ำห้วยคล้ายฯ ซึ่งมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ เข้ามาเสริมระบบน้ำให้มีประสิทธิภาพ และ ม.ราชภัฎอุดรธานี ช่วยส่งเสริมความรู้ ทำให้มีความรู้ มีทั้งน้ำเพียงพอในการปลูกข้าวและทำเกษตรอินทรีย์ได้ ตนเองใช้เวลากว่าสิบปีมุ่งมั่นทำนาและเกษตรอินทรีย์ ต้องใช้ความรู้ ความขยันอดทน และความตั้งใจจริง ที่สำคัญได้นำแนวพระราชดำริ เกษตรผสมผสานของในหลวงรัชกาลที่ ๙ มาปรับใช้สร้างความพอเพียงให้แก่ตนเองและครอบครัวจนเป็นผลสำเร็จ และยังได้ความรู้จากมหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานีมาต่อยอดพัฒนาอาชีพ ปลูกข้าวอินทรีย์ได้ผลเป็นที่น่าพึงพอใจมาก จึงคิดอยากจะทำอะไรเพื่อตอบแทนให้แก่สังคมบ้าง จึงได้หารือร่วมกับทาง ม.ราชภัฏอุดรธานี ปักดำนาข้าวเป็นรูป “พระบรมสาทิสลักษณ์ รัชกาลที่ ๙” และ สัญลักษณ์“๑๐ ทรงพระเจริญ” เพื่อเฉลิมพระเกียรติการนำความรู้ศาสตร์พระราชาและแนวพระราชดำริเกษตรผสมผสานมาใช้พัฒนาคุณภาพชีวิตตนและครอบครัว

อาจารย์ชาลี ศรีสุพล ยังมีความตั้งใจทำแปลงที่นาของตนให้เป็น “แปลงเกษตรเชิงท่องเที่ยว” เพื่อเป็นแหล่งให้ความรู้ในการทำเกษตรผสมผสาน การทำนาข้าวอินทรีย์ ให้แก่เยาวชนและเกษตรกรรุ่นใหม่ มีเป้าหมายเป็นจุดศูนย์กลางรวบรวมผลผลิตของชุมชนให้มาอยู่ในที่เดียวกันสำหรับจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวด้วย

ด้านอาจารย์ ดร.วิบูล เป็นสุข รองอธิการบดี มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เล่าว่ามหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี มีความร่วมมือกับเกษตรกร และมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ มาหลายปีแล้ว เกษตรกรได้รับความรู้ต่อเนื่องจากการบริการวิชาการของมหาวิทยาลัย มีความรู้ มีประสบการณ์ จึงไม่มีปัญหาด้านการผลิต แต่ปัญหาที่สำคัญของเกษตรกรอยู่ที่การตลาดและการจำหน่ายผลผลิตได้ในราคาที่ต่ำคณะทำงานจึงคิดรูปแบบใหม่ที่ช่วยจัดการเรื่องการตลาดให้แก่กลุ่มเกษตรกร โดยนำ “การท่องเที่ยวเชิงเกษตร” มาช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาในชุมชน โดยสร้างจุดศูนย์กลางที่เป็นแหล่งรวบรวมผลผลิตชุมชนให้มาอยู่ในที่เดียวกันเพื่อจำหน่ายให้กับนักท่องเที่ยวโดยตรง และมีกิจกรรมเสริม อาทิ การจัดโปรแกรมสำหรับการเรียนรู้วิถีเกษตรตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ซึ่งจะต้องเชื่อมโยงไปถึงแหล่งท่องเที่ยวที่อยู่ในบริเวณใกล้เคียงเพื่อจัดเส้นทางการท่องเที่ยวให้มีการแวะมายังชุมชนโคกล่าม-แสงอร่าม เช่น วัดภูตะเภาทอง วัดภูสังโฆ เป็นต้น”

อาจารย์ ดร.วิบูล เป็นสุข ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ตำบลกุดหมากไฟอยู่ในโครงการ U2T ของมหาวิทยาลัย ซึ่งมีวัตถุประสงค์ยกระดับความเป็นอยู่ของเกษตรกรให้ดีขึ้น จึงได้ใช้โครงการ U2T เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนโครงการสร้างแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตร ซึ่งแปลงนาของอาจารย์ ชาลี ศรีสุพล สมาชิกของกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกข้าว มีความเหมาะสมสำหรับทำเป็นจุดศูนย์กลางจำหน่ายผลผลิตของเกษตรกร เนื่องจากมีพื้นที่ติดกับอ่างเก็บน้ำห้วยคล้าย เป็นทำเลที่มีความสวยงาม มีศักยภาพที่จะทำเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรได้ โดยออกแบบแปลงนาให้มีรูปภาพที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เพื่อให้สอดคล้องกับโครงการปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่บ้านโคกล่าม-แสงอร่าม แล้วสร้างสะพานไม้ไผ่ให้สามารถเดินเข้าไปชมได้ในแปลงนา หวังให้เป็น Landmark ที่จะดึงดูดนักท่องเที่ยวให้เข้ามาท่องเที่ยวและจับจ่ายใช้สอยซื้อผลผลิตของชุมชน

สำหรับวิธีการทำรูปภาพให้เกิดขึ้นในแปลงนา เริ่มจากการออกแบบการปลูกข้าวแบบนาดำโดยใช้พันธุ์ข้าว ๒ ชนิดที่มีสีของใบแตกต่างกัน คือ “ข้าวเจ้าพันธุ์ทับทิมชุมแพ” ซึ่งมีใบสีเขียว และ “ข้าวเจ้าพันธุ์ที่มีใบสีน้ำตาล-ดำ” จากสถาบันวิจัยข้าวนานาชาติ (IRRI) ประเทศฟิลิปปินส์ มีอาจารย์และนักศึกษาสาขาวิชาทัศนศิลป์ คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี เป็นผู้ออกแบบลวดลายของรูปภาพ และผู้จ้างงาน อว. บัณฑิต นักศึกษา และอาจารย์ที่ปรึกษาในโครงการ U2T ที่มาช่วยกันดำนาและช่วยสร้างสะพาน

ความคาดหวังของโครงการในครั้งนี้ ไม่ได้หยุดอยู่ที่การทำแปลงนาให้เป็นรูปภาพและดึงดูดนักท่องเที่ยวเฉพาะในช่วงฤดูทำนาเท่านั้น แต่ยังหวังที่จะต่อยอดให้ชุมชนได้ช่วยกันคิดสร้างสรรค์กิจกรรมที่จะสามารถจูงใจให้มีนักท่องเที่ยวมาเที่ยวได้ตลอดทั้งปี อาทิ การปลูกไม้ดอกไม้ประดับ การปลูกผัก-ผลไม้เมืองหนาว เช่น สตรอเบอร์รี่และเมล่อนในโรงเรือน การทำโปรแกรมอบรมระยะสั้นให้กับผู้ที่สนใจ เช่น การแปรรูปผลิตภัณฑ์จากพืชที่ปลูกตามฤดูกาล เช่น การทำน้ำหม่อน แยมจากหม่อน การปลูกกาแฟและสร้างร้านกาแฟที่ใช้กาแฟที่ปลูกเอง เป็นต้น ซึ่งกิจกรรมดังกล่าวจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยความร่วมมือของทุกฝ่าย ทั้งฝ่ายราชการ ผู้นำชุมชน ชาวบ้าน ความเข้มแข็งของกลุ่ม ความเสียสละและทุ่มเทในการทำงาน

มหาวิทยาลัยราชภัฎอุดรธานี มีความร่วมมือกับมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ นำความรู้ตามหลักวิชาการ ผสมผสานกับแนวพระราชดำริ และภูมิปัญญาท้องถิ่น ส่งเสริมความรู้ การทำเกษตร สร้างอาชีพ ฝึกอบรมเรื่องการแปรรูปผลิตผลทางการเกษตร การทำหลักสูตรท้องถิ่นเรื่องข้าว การจัดการของเสียในชุมชน การให้ความรู้เรื่องกฎหมายเกี่ยวกับวิสาหกิจชุมชน ปัจจุบันเกษตรกรสามารถนำเอาความรู้และเทคนิคที่ได้รับจากการฝึกอบรมไปใช้พัฒนาต่อได้ สามารถสร้างผลิตภัณฑ์ของชุมชน เช่น ข้าวสารบรรจุถุงสุญญากาศ การทำกล้วยฉาบ การทำกล้วยตากด้วยโรงอบพลังงานแสงอาทิตย์ การทำปุ๋ยหมักจากมูลไส้เดือน การปลูกผักปลอดภัย การปรับปรุงโรงเรือนแปรรูปผลผลิตผักหลังเก็บเกี่ยวที่ได้มาตรฐาน อย. การทำบรรจุภัณฑ์ เป็นต้น

จิตรกรรมบนผืนนา เฉลิมพระเกียรติสองรัชกาล
จิตรกรรมบนผืนนา เฉลิมพระเกียรติสองรัชกาล
จิตรกรรมบนผืนนา เฉลิมพระเกียรติสองรัชกาล
จิตรกรรมบนผืนนา เฉลิมพระเกียรติสองรัชกาล
จิตรกรรมบนผืนนา เฉลิมพระเกียรติสองรัชกาล
จิตรกรรมบนผืนนา เฉลิมพระเกียรติสองรัชกาล
จิตรกรรมบนผืนนา เฉลิมพระเกียรติสองรัชกาล
จิตรกรรมบนผืนนา เฉลิมพระเกียรติสองรัชกาล
รูปภาพเพิ่มเติม

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ