“โครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากฯ ต.ลำปาว จ.กาฬสินธุ์” ท้องถิ่นผสานชุมชน ร่วมพลังพัฒนาบ้านเกิดอย่างมั่นคงและแข็งแรง

 

          ใครจะไปเชื่อว่า บ้านป่ากล้วย และอีกหลายหมู่บ้านใน ต.ลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ ที่มีพื้นที่ห่างจาก เขื่อนลำปาวไม่ถึง 1 กิโลเมตร จะเป็นพื้นที่แห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำการเกษตร 

นางทองสาย พัฒนโพธิ์ ผู้ใหญ่บ้านบ้านป่ากล้วยต.ลำปาว อ.เมือง จ.กาฬสินธุ์ เล่าถึงสภาพปัญหาในพื้นที่ว่า “จากหมู่บ้าน เข้าไปอีกนิดเดียวก็เจอเขื่อนลำปาวแล้ว เดินไปหลังบ้านแค่ไม่กี่ร้อยเมตรก็เจอน้ำเหมือนกัน แต่เชื่อไหมว่า ที่นี่ขาดน้ำทำการเกษตรมากที่สุด แม้แต่น้ำอุปโภคบริโภคยังลำบากเลย เพราะเป็นพื้นที่สูงเหนือเขื่อน ถ้าจะใช้น้ำเราต้องสูบเอา ถึงเรามีสถานีสูบน้ำหลังไฟฟ้า แต่ชำรุดเสียหายใช้การไม่ได้ คลองส่งน้ำซีเมนต์ก็มี แต่ก็ชำรุดเหมือนกัน ก็เลยทำการเกษตรแทบไม่ได้เลย” 
แม้ชุมชนเดือดร้อนเรื่องแหล่งน้ำอย่างหนัก แต่โชคยังเข้าข้าง เมื่อปี 2563 มีโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากก้าวไปตามแนวพระราชดำริ  เพื่อซ่อมแซมแหล่งน้ำขนาดเล็ก นายกังวาน แสนอุดม ปลัดเทศบาล ปฏิบัติหน้าที่นายกเทศมนตรีตำบลหนองสอ จึงยื่นเรื่องของบประมาณเพื่อแก้ไขปัญหาแหล่งน้ำในพื้นที่ทันที 

                    โดยโครงการแรกในปี 2563 ประกอบไปด้วยการวางท่อส่งน้ำจากคลองส่งน้ำบ้านป่ากล้วยถึงอ่างคำนกชุมระยะทาง 2,500 เมตร ขนาดท่อส่งน้ำ PVC  12 นิ้ว และมีการกระจายน้ำสู่แปลงเกษตร โดยการติดตั้งโรงสูบน้ำด้วยพลังงานแสงอาทิตย์ 3 จุด เพื่อสูบน้ำจากอ่างเก็บน้ำคำนกชุมขึ้นสู่โอ่งอุ้มน้ำกลางโคก จำนวน 3 จุด แต่ละจุดจะมีโอ่งเก็บน้ำ 40 ใบ เพื่อจ่ายน้ำสู่แปลงเกษตร และวางท่อส่งน้ำจ่ายน้ำ PVC 6 นิ้ว ไปทางทิศตะวันตก ระยะทาง 2,000 เมตร

ต่อมาในปี 2564 โครงการฝ่าวิกฤติฯ ระยะที่ 2 มีการขยายระบบท่อส่งน้ำ จากคลองส่งน้ำถึงลำห้วยซัน ระยะทาง 418 เมตร ถึงบ้านป่ากล้วย ม.10 และโครงการขยายระบบท่อส่งน้ำ ระยะทาง 832 เมตร บ้านโนนสะอาด ม. 9 ถึงบ้านหนองสอใต้ ม. 2 สุดท้ายคือโครงการขยายระบบท่อจากอ่างคำนกชุมถึงหนองกักเก็บน้ำประปาบ้านม่วงเฒ่า ระยะทาง 1,280 เมตร บ้านมิตรสัมพันธ์ ม.8 ถึง บ้านม่วงเฒ่า ม. 4 รวมพื้นที่รับประโยชน์กว่า 2,500 ไร่ 

          “เมื่อเราได้น้ำจากตรงนี้ มันก็สามารถต่อยอดไปได้อีกเยอะ ตอนนี้เราก็สามารถผลักดันชุมชนไปสู่วิสาหกิจชุมชนเพื่อให้เกษตรกรเกิดการร่วมกลุ่มกว่า 20 กลุ่มวิสาหกิจ ซึ่งแต่ละกลุ่มวิสาหกิจเชื่อมโยงกันหมด อาทิมีกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงกระบือลำปาว จากนั้นจึงเกิดกลุ่มปลูกหญ้าเพื่อเป็นอาหารควาย เมื่อมีมูลควายก็นำไปทำเป็นอาหารปลาให้กับกลุ่มผู้เลี้ยงปลาในลำปาว เป็นต้น ซึ่งทุกกลุ่มถูกเชื่อมโยงด้วยน้ำและขับเคลื่อนด้วยชุมชนอย่างแท้จริง และในอนาคตเราจะสร้างให้เกษตรกรพื้นที่นี้สามารถทำการเกษตรแบบ BCG อย่างมีคุณภาพให้ได้” นายกังวาน กล่าว 

          ปัจจุบันหากใครผ่านไปผ่านมาบริเวณ ต.ลำปาว อ.เมืองกาฬสินธุ์ จ.กาฬสินธุ์ และพื้นที่ใกล้เคียง ก็จะพบความอุดมสมบูรณ์ที่มีน้ำเต็มลำคลองส่งน้ำ ทอดยาวไปยังพื้นที่ทางการเกษตร ซึ่งช่วยให้ชุมชนสามารถทำการเกษตรได้ตลอดทั้งปี นอกจากนี้ยังมีบ่อกุ้งก้ามกรามบ่อแรกของชุมชนเกิดขึ้น ที่สร้างรายได้ให้เกษตรกรหลักแสนบาท และจะมีอีกหลายๆบ่อตามมาในอนาคต รวมทั้งการเกิดกลุ่มวิสาหกิจชุมชนที่เชื่อมโยงระหว่างกันกว่า 20 กลุ่ม ที่ขับเคลื่อนด้วยชุมชนอย่างแท้จริง 
          นี่คือตัวอย่างของพื้นที่ที่ท้องถิ่นร่วมกับคนในชุมชน ผสานพลังต่อสู้ฝ่าวิกฤติต่างๆร่วมกัน จนสามารถพัฒนาไปได้ไกลอย่างก้าวกระโดดแต่แข็งแรงและมั่นคง 

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ