นายอดุลย์ ดอเลาะ อาสาสมัครพัฒนาปิดทองหลังพระฯ และในฐานะสมาชิกกองทุนส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ-แกะ หมู่ 4 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า กองทุนดังกล่าวเกิดขึ้นเพื่อส่งเสริมเป็นช่องทางให้เกษตรกรสามารถเริ่มอาชีพการเลี้ยงแพะ หรือพัฒนาการเลี้ยงแพะให้ตรงตามที่ตลาดต้องการ จนสามารถสร้างรายได้แก่เกษตกรตลอดปี และทำเป็นอาชีพหลักเลี้ยงครอบครัวได้ ซึ่งเป็นมติความต้องการของเกษตรกรในพื้นที่ตั้งแต่ ปี 2560 ภายหลังได้รับการสนับสนุนแพะพันธุ์ผสมจากมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี 50 ตัว และจากหน่วยงานปศุสัตว์อำเภอ 99 ตัว และมูลนิธิชัยพัฒนา 12 ตัว รวมทั้งสิ้น 161 ตัวที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของกองทุนส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ ปัจจุบันสมาชิกกองทุน 80 ราย โดยเงื่อนไขการเข้าร่วมกองทุนนั้นสมาชิกจะต้องเป็นผู้เลี้ยงแพะอยู่แล้ว ประกอบกับมีแปลงหญ้าและคอกสำหรับแพะเพศเมีย จำนวน 2 ตัวต่อรายที่จะได้รับ ซึ่งภายหลังการได้รับการสนับสนุน ในระยะเวลา 6 เดือน ต้องคืนแพะกลับมาที่กองทุนเพื่อส่งต่อให้สมาชิกรายอื่นต่อไป
อาสาสมัครพัฒนาปิดทองหลังพระฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนตัวเห็นว่ากองทุนนี้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและเกษตรกรในพื้นที่ เนื่องจากนอกจากหน่วยงานจะเข้ามาสนับสนุนพันธุ์แพะแล้ว โครงการปิดทองหลังพระฯ ก็มีส่วนในการสนับสนุนองค์ความรู้เรื่องการดูแลสุขาภิบาล การบริหารจัดการกองทุน การให้องค์ความรู้เรื่องอาหารสำหรับเลี้ยงแพะเพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าอาหารสำเร็จรุปจากท้องตลาด จนวันนี้เกษตรกรมีความรู้ สามารถยกระดับคุณภาพและราคาแพะ โดยสมาชิกบางรายมีรายได้สูงสุดจากการขายแพะ อยู่ที่ 80,000 บาท อีกทั้งแพะในกองทุนยังเป็นที่ต้องการของตลาดในสามจังหวัดชายแดนใต้อย่างต่อเนื่อง ด้วยจุดเด่นในเรื่องการเลี้ยง ที่มีการจัดการที่ดี เลี้ยงในคอก ถูกหลักสุขาภิบาลและหลักศาสนานา
“เดิมก่อนปิดทองฯ เข้ามา ชาวบ้านเลี้ยงแบบปล่อยเช้าเย็นกลับ ไม่ได้น้ำหนัก พอปิดทองฯเข้ามาก็มา เน้นให้ความรู้การดูแลจัดการ ดึงหน่วยงานเข้ามาสนับสนุนส่งเสริม พาจัดตั้งกลุ่มมีกรรมการ กองทุนเรียบร้อย ชาวบ้านก็เลยเลี้ยงแพะเป็น มีคุณภาพ ราคาดี และก็เป็นอาชีพหลักได้เลย ตอนนี้ความต้องการของตลาดมีมากกว่าแพะในกองทุน อนาคตก็อยากขยายเพิ่มเติม เพื่อตอบโจทย์ลูกค้า เพราะแพะเป็นที่นิยมมากในสามจังหวัดชายแดนใต้ นิยมซื้อทำพิธีกรรมทางศาสนาอิสลาม นอกจากนี้ขี้แพะเกษตรกรก็ยังขายได้ เรียกได้ว่าเลี้ยงแพะนี่ได้เงินหลายทางเลย” อาสาสมัครพัฒนาปิดทองหลังพระฯ กล่าว
ทั้งนี้ราคาแพะที่กองทุนขายอยู่ที่กิโลกรัมละ 170 บาท ส่วนแพะสำหรับพิธีทางศาสนาอิสลามราคาเริ่มต้นที่ 4,500 บาทขึ้นไป ซึ่งนอกจากรับซื้อ-ขายแพะแล้ว ล่าสุด 2 เดือนที่ผ่านมากองทุนยังให้บริการแพะเชิงพาณิชย์ รับชำแหละ รับจัดเลี้ยง ราคาเริ่มต้น 3,000 บาท ประกอบด้วยเมนูข้าวหมกแพะ ข้าวมันแพะ ซุปแพะ และแกงแพะ เป็นต้น ตอนนี้อยู่ระหว่างการหารือภายในกลุ่มเพื่อแปรรูปแพะแช่แข็งในอนาคต ซึ่งผู้ที่สนใจสามารถติดต่อสอบถามทางกองทุนส่งเสริมอาชีพเลี้ยงแพะ แกะ หมู่ 4 ตำบลโคกเคียน อำเภอเมืองนราธิวาส จังหวัดนราธิวาสได้โดยตรง ที่เบอร์โทรศัพท์ 088 762 7655 หรือ 064 312 2846 ทุกวันในเวลาราชการ