วิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยบ้านหนองแวงฮี ต่อยอดเกษตรหลังมีน้ำ รวมพลังเพื่อชุมชนแข้มแข็งอย่างสร้างสรรค์และยั่งยืน

แม้ตำบลคลองขาม อำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ มีพื้นที่ติดติดกับเขื่อนลำปาว พร้อมคลองส่งน้ำชลประทานและมีน้ำไหลผ่านอย่างอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี แต่ บ้านหนองแวงฮี กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อคลองส่งน้ำ สามารถใช้งานได้กับชุมชนที่อยู่ฝั่งซ้ายเท่านั้น ทำให้ชุมชนฝั่งขวาอย่างหนองแวงฮี ขาดแคลนน้ำทำการเกษตรมาโดยตลอด

นางสาธินี โยธาภักดี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองแวงฮี

นางสาธินี โยธาภักดี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านบ้านหนองแวงฮีพูดถึงปัญหาการขาดแคลนน้ำของชุมชนให้ฟังว่า  “น้ำจากเขื่อนลำปาว ส่วนใหญ่ฝั่งซ้ายจะได้ใช้ ฝั่งขวาอย่างหมู่บ้านเราได้นิดเดียว มันไม่ทั่วถึง เราเลยขุดสระน้ำใช้ในหมู่บ้าน แต่ก็มีปัญหาตรงเอาน้ำขึ้นมาใช้ไม่ได้” 

          จนกระทั่ง ชุมชนได้เข้าร่วมโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ เพื่อซ่อมแซมและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก จากสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ โดยการสร้างสถานีสูบน้ำโซล่าเซลล์ กำลังไฟ 350 วัตต์ จำนวน 12 แผง พร้อมถังเก็บน้ำขนาด 1,500 ลิตร จำนวน 8 ถัง ซึ่งชุมชนได้ลงมติต่อยอดโครงการฯ ด้วยการเปลี่ยนพื้นที่รกร้างให้เป็นแปลงผักของชุมชน ที่จะช่วยสร้างรายได้รายวันให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืน 
“พอดีหมู่บ้านมีที่รกร้างบริเวณสระน้ำ ไม่ได้ทำอะไรอยู่ประมาณ 5 ไร่กว่า ก็คิดต่อยอดจากโครงการว่าน่าจะทำพื้นที่ตรงนี้ให้เกิดประโยชน์ พอได้น้ำก็เลยแบ่งที่กัน ขนาด 6X4 เมตร สมาชิกประมาณ 40 คน เอาน้ำจากโครงการฯมาปลูกผักปลอดภัยเพื่อบริโภคในครัวเรือน เหลือก็จำหน่ายในหมู่บ้านและตลาดข้างนอก ซึ่งผลตอบรับดีมาก”

        เพียงไม่นาน พื้นที่รกร้างกว่า 5 ไร่ ที่เคยแห้งแล้ง ก็ฟื้นคืนกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ด้วยผักสวนครัวอย่าง ต้นหอม ผักชี มะเขือเทศ มะเขือเปาะ คะน้า ผักกาดหอม ผักกาดแก้ว ข้าวโพดหวาน ด้วยฝีมือสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนปลูกผักปลอดภัยบ้านหนองแวงฮี ที่ปลูกผักไว้บริโภคภายในครัวเรือน เหลือจึงนำไปขายที่ตลาดทั้งในและนอกชุมชน 
นางคำลา จันทะแสน หนึ่งในสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจ กล่าวว่า “พอมีการแบ่งที่ให้คนในชุมชนได้มาทำการเกษตรก็ดีมากๆ แต่ก่อนไม่มีรายได้รายวันเลย ตอนนี้อย่างน้อยๆได้วันละ 200 บาท แต่ถ้าอย่างช่วงหน้าหนาว ได้วันละ 400-500 บาทดีมากๆเลย” 
นอกจากจะทำให้สมาชิกกลุ่มมีรายได้ในทุกๆวันแล้ว แปลงผักในหมู่บ้าน ยังได้กลายเป็นที่พบปะสังสรรค์ของคนในชุมชน บ้านไหนขาดเหลือก็จะเดินมาซื้อผักสดๆถึงหน้าแปลง หรือช่วงว่างหลังจากดูแลแปลงแล้ว สมาชิกก็จะมานั่งพูดคุยแลกเปลี่ยนสารทุกข์สุขดิบกัน ก่อเกิดความสัมพันธ์ที่ทำให้กลุ่มเข้มแข็งแนบแน่นยิ่งขึ้น

       “ทางกลุ่มจะประชุมกันทุกเดือน เวลามีปัญหาอะไรจะได้พูดคุยแก้ไขปัญหากัน แล้วก็มีข้อตกลงในการเก็บค่าบำรุงจากสมาชิกเดือนละ 10 บาท เพื่อจะเก็บไว้เป็นค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาอุปกรณ์ต่างๆ แล้วกำลังวางแผนต่อยอด ทำแผงขายผักปลอดภัยที่หน้าแปลงเกษตร พร้อมประชาสัมพันธ์ให้คนนอกหมู่บ้านได้รู้ว่าที่บ้านหนองแวงฮีมีผักสดๆดีต่อสุขภาพ ราคาไม่แพงจำหน่าย และจะดันตรงนี้ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวแห่งใหม่ เพราะเมื่อไม่นานมานี้ได้ทดลองจัดกิจกรรม “ตกเบ็ดปลาใหญ่ กินผักปลอดภัยบ้านหนองแวงฮี” ซึ่งได้ผลตอบรับดีมาก สร้างรายได้เข้าหมู่บ้านกว่า 100,000 บาท ก็ถือเป็นความภาคภูมิใจของชุมชนเรา” นางสาธินี ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านกล่าวทิ้งท้าย 
นับเป็นหนึ่งชุมชนที่เป็นตัวอย่างของการต่อยอดโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ เพื่อซ่อมแซมและเพิ่มประสิทธิภาพแหล่งน้ำชุมชนขนาดเล็ก ได้อย่างเข้มแข็ง มีการระดมความคิด เมื่อเกิดปัญหาก็สามารถช่วยกันแก้ไขอย่างเป็นขั้นตอน ทั้งยังพัฒนาชุมชนให้เจริญก้าวหน้าอย่างสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี 

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ