“มีน้ำ มีอาชีพ” ต่อยอดชีวิตเกษตรกรอย่างยั่งยืน


“คิดดีแล้วเหรอ”

“จะเลี้ยงกุ้งตรงนี้ น้ำก็ไม่มี จะไปรอดเหรอ”

นี่คือคำถามที่ นาง สว่าง บุญมา ผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 9  บ้านโนนสะอาด ตำบลลำปาว อำเภอเมือง จังหวัดกาฬสินธุ์ โดนชุมชนตั้งข้อสงสัยถึงความคิดที่จะลองเลี้ยงกุ้งก้ามกราม แม้พื้นที่จะอยู่ไม่ไกลจากเขื่อนลำปาว แต่ก็ไม่สามารถนำน้ำมาใช้ได้ 

“แต่ก่อนทำแต่นา จะทำอย่างอื่นก็ไม่ได้ ต้องรอฟ้ารอฝนอย่างเดียว ตรงนี้อยู่ติดเขื่อนลำปาวก็จริง แต่มันสูง ถ้าจะใช้น้ำก็ต้องสูบขึ้นมา มันไม่คุ้ม” 

จนในปี 2564 ตำบลหนองสอ ได้รับงบประมาณจากโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ เพื่อซ่อมแซมแหล่งน้ำชุมชน โดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระร่วมกับจังหวัดกาฬสินธุ์และหน่วยงานในพื้นที่ได้เข้าไปเสริมเรื่องการส่งน้ำระบบท่อไปยังพื้นที่การเกษตร โดยใช้ท่อขนาด 12 นิ้ว ความยาวกว่า 2.5 กิโลเมตร ส่งน้ำเพื่อไปเก็บกักยังอ่างเก็บน้ำทำนบซุง และระหว่างทางส่งน้ำ ก็สามารถกระจายน้ำไปยังพื้นที่ของเกษตรกรด้วย  เมื่อมีน้ำแล้ว ผู้ใหญ่สว่าง จึงมีความคิดอยากจะลองเลี้ยงกุ้งก้ามกรามเพื่อเป็นอาชีพเสริมดู 

“พอปิดทองหลังพระฯต่อท่อหลักมาให้ เราก็เห็นน้ำมาจริงๆ ก็มั่นใจได้ว่าจะมีน้ำตลอดทั้งปีแน่นอน รวมถึงคุณกังวาน แสนอุดม ปลัดเทศบาลตำบลหนองสอ มาชวนว่า ในเมื่อมีน้ำแล้ว ลองเลี้ยงกุ้งดูไหม เพราะพื้นที่แถวนี้ไม่เคยเลี้ยงกุ้งได้เลย ก็อยากจะลองดู ส่วนตัวเป็นผู้ใหญ่บ้านด้วย จะได้เป็นตัวอย่างให้กับเกษตรกรคนอื่นทำตามได้” 

ระยะเวลาไม่นาน กุ้งบ่อแรกของตำบล ก็เริ่มเป็นรูปเป็นร่าง ผู้ใหญ่สว่าง ทำการขุดบ่อเลี้ยงกุ้งบ่อแรก พร้อมปล่อยกุ้งจำนวน 100,000 ตัว และใช้วิธีเลี้ยงแบบธรรมชาติ ลดต้นทุนด้วยการใช้จุลินทรีย์สังเคราะห์แสงที่ผลิตเอง ช่วยเพิ่มอาหารให้กุ้งมีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ด้วยระยะเวลาเพียง 4 เดือน หลังหักลบกับเงินลงทุนในการขุดบ่อแล้ว ผู้ใหญ่สว่างก็สามารถขายกุ้งล็อตแรก ได้กำไรกว่า 70,000 บาทเลยทีเดียว 

“ตอนแรกมีคนสบประมาทเยอะนะ ว่าเราจะทำได้เหรอ แต่ก็มั่นใจว่าถ้ามีน้ำเราต้องทำได้ แล้วก็ทำได้จริงๆ ตอนนี้ก็มีคนเริ่มมาศึกษากับเราแล้วเลี้ยงตามอีก 3 ราย ดีใจที่ปิดทองหลังพระเอาน้ำมาให้ แล้วก็ภูมิใจที่เราจะเป็นต้นแบบให้คนอื่นได้ พอบ้านเรามีน้ำ ก็ทำการเกษตรได้หลายอย่าง ลูกชายทั้ง 2 คน ก็กลับมาอยู่บ้าน ไม่ไปทำงานต่างถิ่นแล้ว ตอนนี้แทบไม่ต้องทำอะไร รอขายกุ้งหน้าบ่อ กิโลละ 250-270 บาท แล้วก็นั่งนับเงินอย่างเดียว” ผู้ใหญ่สว่างเล่าด้วยรอยยิ้มอย่างภาคภูมิใจ

ผู้ใหญ่สว่าง นับเป็นอีก 1 ตัวอย่างของเกษตรกรที่สามารถ ต่อยอดอาชีพจากในโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริเป็นอย่างดี  ทั้งยังเป็นต้นแบบให้กับเกษตรกรรายอื่น พร้อมพัฒนาชุมชนร่วมกันต่อไปอย่างยั่งยืนได้ในอนาคต 

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ