“นิลาวัลย์ อ่อนโคตร” บอกลางานประจำ มาทำเกษตรแบบ “ทำน้อยแต่ได้มาก”

    นิลาวัลย์ อ่อนโคตร เกษตรกร ต.ระบำ อ.ลานสัก จ.อุทัยธานี คือ อีก 1 ชีวิตที่ต้องเข้าเมืองหลวงเพื่อค้าแรงงาน เช่นเดียวกับหนุ่มสาวในชนบททั่วๆไป กว่า 30 ปีที่ใช้ชีวิตอยู่กรุงเทพ นิลาวัลย์และสามี มีรายได้ไม่ต่ำกว่าเดือนละ 40,000 บาท หากเดือนไหนทำงานล่วงเวลาด้วยแล้ว รายได้ของทั้งคู่นั้นสูงถึง 50,000 บาทเลยทีเดียว แต่แล้วชีวิตในเมืองกลับต้องพลิกผัน เมื่อพ่อเสียชีวิตลง ทำให้ไม่มีใครดูแลแม่ที่ต้องอยู่คนเดียว สองสามีภรรยา จึงตัดสินใจกลับบ้านมาทำการเกษตรแบบเต็มตัว

       ในครั้งแรก นิลาวัลย์และสามีจึงคิดลงทุนปลูกฟักทอง ด้วยเงิน 20000 กว่าบาท แต่โชคร้ายที่เกิดโรคและแล้ง ทำให้ผลผลิตฟักทอง ไม่ได้ตามต้องการ เรียกได้ว่าแทบไม่ได้อะไรกลับคืนมา เมื่อล้มแล้วต้องลุกขึ้นสู้ใหม่ นิลาวัลย์และสามีไม่ย่อท้อ เริ่มต้นปลูก บวบเหลี่ยม มัน มะระ แบบเต็มพื้นที่อีกครั้ง 

    “ตอนนั้นอยากทำเยอะๆ ก็ลองปลูกมะระ 2 ไร่ แต่ลืมไปว่าเราไม่มีแรงงาน สุดท้ายก็ต้องจ้างคนมาดายหญ้า มาช่วยทำ แล้วยังมีค่าปุ๋ย ค่ายา สุดท้ายได้มา 40,000 บาท ก็จริง แต่พอหักค่าจ้างแรงงานกับทุนต่างๆแล้ว ค่าแรงตัวเองแทบไม่ได้เลย ก็ต้องมาปรับวิธีคิดใหม่” 
    จากนั้นไม่นาน นิลาวัลย์จึงขอความรู้เพิ่มเติมจาก เจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้ชุมชนอริโยทัย  ช.1 ซึ่งอยู่ในโครงการ “ระบำโมเดล”  ที่จัดหาพื้นที่อาศัยและทำกินให้กับเกษตรกรที่เคยมีที่ดินในบริเวณป่าสงวน โดยมีโครงการฝ่าวิกฤติด้วยเศรษฐกิจและสังคมฐานรากให้พัฒนาก้าวไปตามแนวพระราชดำริ สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สนับสนุนน้ำทางการเกษตรและองค์ความรู้ต่างๆ  นิลาวัลย์และสามีจึงปรับวิธีคิด ในการทำการเกษตรอีกครั้ง 

    “ลองมาคิดกันเอง แล้วก็ปรึกษาเจ้าหน้าที่ศูนย์เรียนรู้ เลยตัดสินใจว่า จะทำแค่เราและสามีทำไหว เลยทำมะระแค่ 1 ไร่ โชคดีที่เป็นช่วงที่ผักได้ราคา หักลบต้นทุนแล้ว  ครอปแรกได้กำไรถึง 45,000 บาท เลยทีเดียว เลยได้ความคิดว่า ทำน้อยได้มาก คือวิธีที่ถูกต้องแล้วสำหรับเรา” 
      เมื่อมาถูกทางแล้ว นิลาวัลย์และสามี ก็เดินหน้าทำการเกษตรต่ออย่างระมัดระวังแต่มั่นคง มีหลักคิด คำนวณต้นทุนกำไรเสมอ และไม่ลืมค่าแรงสำหรับตัวเอง ที่สำคัญคือ ทำบัญชีครัวเรือน ซึ่งจะทำให้ทราบรายรับรายจ่าย เพื่อง่ายต่อการวางแผนด้านการเงินต่างๆ ในชีวิตด้วย 

    ทุกวันนี้พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน ของนิลาวัลย์ แบ่งเป็น บ่อเลี้ยงปลา ไม้ผลอย่าง ทุเรียน ลำไย เงาะ ขนุน และปลูกพืชสวนครัว อย่างพริกเสริมระหว่างไม้ผลเพื่อเป็นรายได้รายวัน และมีพืชหมุนเวียนที่เป็นรายได้หลักอีกด้วย 
“ถึงอยู่กรุงเทพจะได้เงินเยอะกว่านี้มาก แต่มันเหนื่อยมันไม่เหมือนอยู่บ้านเรา ได้อยู่กับครอบครัว เป็นนายตัวเอง อยากพักก็ได้พัก แบบนี้มีความสุขที่สุดแล้ว” นิลาวัลย์กล่าวทิ้งท้าย 

ข่าวอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ