นายเพชร อนันต์

หมอดินบ้านห้วยธนู: หมอดิน ซึ่งมีความรู้เรื่องการปรับปรุงบำรุงดิน การสังเกตดินโดยดูคุณสมบัติทางกายภาพ วิธีเก็บตัวอย่างดิน และทำปุ๋ยหมักจากหญ้าใจสวะ อดีต "นายเพชร อนันต์" เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกข้าวโพด ปลูกข้าวไร่ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเหมือนคนอื

นายเพชร อนันต์

ประวัติความเป็นมา

อดีต "นายเพชร อนันต์" เคยทำเกษตรเชิงเดี่ยวปลูกข้าวโพด ปลูกข้าวไร่ เพื่อหาเลี้ยงครอบครัวเหมือนคนอื่นๆ แต่ที่ทำให้เขาแตกต่างจากชาวบ้านทั่วๆไปคือ "ภูมิปัญญาท้องถิ่น" ที่ได้รับการถ่ายทอดสมัยที่นายเพชรเป็นลูกมือช่วยพ่อแม่ทำไร่ทำสวน


รายละเอียดเพิ่มเติม

พ่อแม่ของนายเพชรย้ำกับเขาเสมอว่า "ต้องรู้จักดินหากจะทำเกษตร" และไม่ใช่บอกเปล่า เมื่อพ่อและแม่ได้สอนนายเพชรให้มีความรู้ด้านการสังเกตและปรับปรุงดินให้เหมาะสมกับการปลูกพืชแต่ละชนิด เพราะไม่มีทางที่ดินเลวจะผลิตพืชคุณภาพดีได้ "ก็สังเกตเอา หากใบพืชมีสีเหลือง แปลว่าดินขาดฟอสฟอรัส วิธีแก้แบบบ้านๆ คือเอาขี้หมูมาใส่" นอกจากนั้น นายเพชรยังได้รับความรู้ว่า ดินควรเป็นปัจจัยในการเลือกพืช ไม่ใช่ให้พืชเลือกดิน

"ดินร่วนซุยเหมาะกับการปลูกพืชล้มลุก ข้าวโพด ดินแข็งดินดานปลูกยางลำไย ส่วนข้าวปลูกดินเหนียว" และด้วยเหตุนี้ที่ทำให้นายเพชรได้รับการแต่งตั้งเป็นหมอดินประจำหมู่บ้านตั้งแต่ปี พ.ศ. 2538 ทำหน้าที่เป็นตัวกลางประสานกับกรมพัฒนาที่ดิน เพื่อนำวิธีการปรับปรุงดินที่ถูกต้องตามหลักวิชาการเพื่อยกระดับการทำเกษตรภายในชุมชน


กิจกรรมที่ดำเนินงาน

ฆ่าดินด้วยการเกษตรเชิงเดี่ยว ย้อนกลับไปเมื่อกว่า 10 ปีก่อน ประสบการณ์สำคัญที่นายเพชรได้รับจากการทำเกษตรเชิงเดี่ยว คือ "เห็นดินเสื่อมสภาพลงทุกวัน" แม้จะปรับปรุงดินมากเพียงใด ก็ไม่ได้ช่วยให้ดินดีขึ้น เพราะการบำรุงดินแล้วปลูกพืชเชิงเดี่ยวซ้ำแล้วซ้ำเล่าเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ การได้เรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้านของสวนผสมผสานแห่งหนึ่งใน จ.กาญจนบุรีและเชียงใหม่ ที่นายเพชรเปลี่ยนแปลงวิถีเกษตรเป็นเกษตรแบบผสมผสาน และยึดหลักค่อยเป็นค่อยไป เริ่มจากค่อยๆปลูกพืชทีละชนิดสองชนิดลงในพื้นที่ เพื่อให้ธรรมชาติปรับตัวอย่างช้าๆ และไม่กระทบต่อรายได้ของครอบครัว

จากนั้นจึงค่อยเริ่มฟื้นชีวิตให้ดิน "ดินเสีย ปลูกอะไรไม่ขึ้น รดน้ำก็ไม่ลงดินที่เสียจะแข็ง ฟันอย่างนี้จอบแทบจะหักเลย ฟันไม่ลง" นายเพชรกล่าวถึงดินที่อัดตัวเป็นดานจากฤทธิ์สารเคมี แนวทางการปรับปรุงดินช่วงแรกๆ เน้นไปที่การทำปุ๋ยหมักจากหญ้าใจสวะและหญ้าขน เพื่อลดความเป็นกรดของดิน ทำติดต่อกันนานถึง 3 ปี ดินที่แข็งจนจอบฟันไม่เข้า หญ้าไม่ขึ้นจึงได้เริ่มฟื้นคืนชีวิตอีกครั้งหนึ่ง

"ผมปรับดินด้วยการฟันดินขึ้นมาตากแดด แล้วใช้ปูนขาวกับปุ๋ยหมักเข้าช่วย" นายเพชรเล่า "และที่ดินของผมที่เป็นลุ่ม
ทำนาคงไม่ได้กินแน่ ก็ต้องมาทำเป็นสวน ยกร่องแล้วก็ปลูกถั่วช่วยปุ๋ยหมัก ควบคู่กับปูนขาว"

ปลดหนี้เพื่อเริ่มมีเงินเก็บ

เมื่อมีความรู้เรื่องการปรับปรุงดินและเกษตรแบบผสมผสานแล้ว จากไร่ข้าวโพดจึงได้แปรเปลี่ยนเป็นพืชยืนต้นหลายชนิด เช่น ลำไย กล้วย ลิ้นจี่ ข้าวโพด ที่แสดงถึงความหลากหลายในพื้นที่ ถึงแม้การปลูกข้าวโพดจะให้รายได้เป็นก้อน แต่รายได้ที่ว่านี้จะขาดตอนทันทีเมื่อหมดหน้าข้าวโพด แตกต่างจากเกษตรผสมผสาน ที่เกษตรกรจะมีเงินใช้ตลอดทั้งปี และสามารถเก็บหาเก็บกินผลผลิตในพื้นที่ได้ด้วย ช่วยลดรายจ่ายในครอบครัว ปัจจุบันนายเพชรสามารถพึ่งตนเองในระดับที่เขาและครอบครัวพอใจ "ดินตอนนี้ปลูกของอะไรงาม" นายเพชรกล่าว "แล้วรสชาติไปขายนี่ร้านค้าอิจฉาเลย ไม่พอขาย เป็นลำไยนี่ไม่พอขาย กล้ารับประกันความหวาน ความกรอบที่ใช้ปุ๋ยหมักและปุ๋ยอินทรีย์ช่วยแน่นอน"

สำหรับสภาพคล่องทางเศรษฐกิจ นายเพชรเล่าว่าดีขึ้นกว่าเดิมมาก ทั้งในส่วนของรายรับและรายจ่าย แม้รายรับอาจไม่ได้เป็นกอบเป็นกำแต่ก็เข้าใจได้ว่าการทำเกษตรแบบผสมผสาน 2 - 3 ปีแรก คือการสร้างรากฐานเพื่อรอเก็บเกี่ยวในระยะยาว แต่กระนั้นรายได้รายปีราว 110,000 บาท ก็เพียงพอต่อการยังชีพในช่วงนี้

นอกจากรายได้จากการปลูกพืชไร่พืชสวนแล้ว นายเพชรยังมีรายได้จากหมูเหมยซานที่เลี้ยงไว้ 2 ตัว ตัวที่หนึ่งได้รับจากโครงการปิดทองหลังพระฯ พอเห็นว่าการเลี้ยงหมูเหมยซานมีข้อดีที่ลูกดก เลี้ยงง่าย สามารถสร้างรายได้ที่มั่นคง เขาจึงนำเงินเก็บที่มีมาลงทุนซื้อแม่พันธุ์หมูอีกหนึ่งตัวจากเพื่อนบ้าน 2,500 บาท

ส่วนรายจ่ายยังคงเท่าเดิม แต่ที่เพิ่มมาคือสุขภาพที่ดีขึ้น เพราะวัตถุดิบในการประกอบอาหารส่วนมากมาจากสวนข้างบ้าน จึงเชื่อใจได้ "รายจ่ายยัง 2,000 กว่าบาทเท่าเดิม เพราะของมันแพงขึ้น แต่ของที่ซื้อลดลง เพราะไก่ ปลา หมู มีหมด จะซื้อก็แค่น้ำปลา ชูรสกับเครื่องใช้ในครัวเรือนนิดหน่อย" และทุกคราวที่มีเงินออม สิ่งแรกที่นายเพชรคิดคือ การนำมาชำระหนี้ เพราะตระหนักดีว่า "การไม่มีหนี้เป็นลาภอันประเสริฐ"

หมายเหตุ หนี้คงเหลือเป้นเพียงการประเมินการณ์ เพราะนายเพชรจำได้เพียงเงินต้น ไม่ทราบถึงดอกเบี้ย

ปัจจุบันนอกเหนือจากหนี้คงค้างของธกส. 60,000 บาทแล้ว นายเพชรยังกู้เงินกองทุนหมู่บ้านติดต่อกัน 3 ปีๆละ 20,000 บาท ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2553-2555 รวม 60,000 บาท ซึ่งเขามั่นใจว่าหากลิ้นจี่ที่ปลูกไว้ผลิดอกออกผลเมื่อไร ก็จะเอากำไรที่ได้มาชำระหนี้ทันที

อยากให้พืชงามต้องตรวจดิน

"เรามาใช้ปุ๋ยอินทรีย์กันเถอะ" คือคำพูดของนายเพชร ที่ชักชวนให้ชาวบ้านหันมาใช้ปุ๋ยอินทรีย์ แม้มีความเข้มข้นของธาตุอาหารน้อย และไม่เห็นผลในระยะสั้น แต่ถ้าใช้ติดต่อกัน ก็จะทำให้ดินมีการอุ้มน้ำและถ่ายเทอากาศดี ผลที่เกิดขึ้นนั้น นอกจากประโยชน์ต่อต้านความอุดมสมบูรณ์แล้ว ในด้านของเศรษฐกิจยังช่วยลดรายจ่าย จากการซื้อปุ๋ยเคมีที่มีราคาสูง ปุ๋นอินทรีย์จึงมีประโยชน์ ทั้งลดรายจ่ายและความเสี่ยงจากการสัมผัสสารเคมี

นายเพชรย้ำว่า นอกเหนือจากการทำปุ๋ยอินทรีย์ใช้เองภายในครัวเรือนแล้ว สิ่งสำคัญที่สุดของการปรับปรุงบำรุงดินอีกประการหนึ่ง คือ "การตรวจดินอย่างสม่ำเสมอ" ซึ่งเกษตรกรสามารถขอรับความรู้และบริการได้จากหมอดินประจำหมู่บ้านและเจ้าหน้าที่กรมพัฒนาที่ดิน

บทความอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ