นายเทียม ประโยตัง : เทคนิคการเพาะเห็ดฟางแบบกองดิน

องค์ความรู้ : เทคนิคการเพาะเห็ดฟางแบบกองดิน "นายฮ้อย" อาชีพเก่าแก่แต่โบราณ ที่ปรากฎอยู่ในเรื่องเล่าตลอดจนนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนอีสาน เรื่องราวของกลุ่มชายฉกรรจ์ที่มีอาชีพค้าวัว ค้าควาย ต้องผ่านด่านทดสอบมากมายเมื่อต้อนควายไปขายยังที

นายเทียม ประโยตัง : เทคนิคการเพาะเห็ดฟางแบบกองดิน

รายละเอียดเพิ่มเติม

"นายฮ้อย" อาชีพเก่าแก่แต่โบราณ ที่ปรากฎอยู่ในเรื่องเล่าตลอดจนนวนิยายที่เกี่ยวข้องกับวิถีชีวิตของคนอีสาน เรื่องราวของกลุ่มชายฉกรรจ์ที่มีอาชีพค้าวัว ค้าควาย ต้องผ่านด่านทดสอบมากมายเมื่อต้อนควายไปขายยังที่ต่างๆ ทั้งอันตรายจากสัตว์ป่า การเดินทางผ่านท้องถิ่นธุรกันดาร ต้องต่อสู้กับหัวขโมยที่จะมาลักวัว ควายไป คำ"นายฮ้อย" จึงให้ภาพลักษณ์ของชายฉกรรจ์ที่พร้อมเผชิญโลก

วันนี้เมื่อโลกเปลี่ยนแปลงไปวิถีของนายฮ้อยก็เปลี่ยนตาม แม้ยังคงสวมหมวกใบเท่แบบนายฮ้อยในตำนาน แต่วิธีการแลกเปลี่ยนควายก็ง่ายดาย ด้วยการติดต่อสื่อสารผ่านช่องทางไร้สาย...เทียม ประโยตัง ก็เป็นหนึ่งในเครือข่ายนายฮ้อยแห่งภาคอีสาน ที่สืบทอดตำนานการซื้อ ขาย แลกเปลี่ยน วัว ควาย มาจนถึงทุกวันนี้ และนั่นทำให้เขาเป็นหนึ่งในผู้ที่มีอาชีพที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว นั่นคือ "การค้าวัวและการนำพ่อพันธุ์วัวไปผสมพันธุ์"

"เรื่องค้าวัวเราก็ทำมานาน เมื่อก่อนเลี้ยงความย 30 กว่าตัวว ต่อมาขายความไปซื้อรถไถคันนึง ราคา 510,000 บาท เป็นรถไถคันเล็กแล้วจากนั้นก็เอารถไถไปหากิน ได้เงินมาก็ซื้อวัวมาเลี้ยงอีก เพราะว่าวัวบ้านเรามันจะหมดแล้ว" เทียม ประโยตัง เล่าถึงวิถีที่เปลี่ยนแปลง จากควาย กลายเป็นความเหล็กและกลับกลายเป็นวัวอีกครั้ง

วัวแต่ละตัวที่เขาซื้อมาจะคัดเลือกวัวที่แข็งแรง อายุประมาณ 1 ปี ราคาประมาณ 11,000-20,000 บาท แล้วแต่อายุและความสมบูรณ์ของวัว จากนั้นนำมาเลี้ยงตามธรรมชาติ โดยสร้างคอกไว้ให้หลบแดด หลบฝน เช้าขึ้นมาก็ต้อนออกมาปล่อยให้และเล็มกินหญ้าในท้องนา เย็นย่ำค่ำลงก็ต้อนกลับไปนอนในคอก ถ้าตัวไหนดูท่าไม่แข็งแรงหรือเลี้ยงไม่เชื่องก็ขายออกไป แต่ถ้าตัวไหนเลี้ยงเชื่องดี ให้จับ ให้จูง ก็เลี้ยงไว้

"ที่ทำมานี่เลี้ยงวัวรายได้ดีที่สุด ตัวนึงได้กำไรราว 10,000 กว่าบาท ก็เอามากินหญ้าแถวๆนี้ พออายุได้ 2 ปีกว่าก็ขาย เด็กน้อยก็มีหน้าที่เลี้ยงวัว บางทีก็เป็นตากับยาย เช้าเอาวัวออกไปเย็นเอาวัวเข้าคอก ถ้าเพื่อนๆ นายฮ้อยด้วยกันโทรมาหาว่าจะมีคนซื้อวัวก็จะบอกเขาไปว่าเรามีวัวกี่ตัว ราคาเท่าไหร่ ถ้าเขาตกลงก็เอาวัวไปส่งกันรับเงินมาก็เท่านั้น"

ปัจจุบันนายเทียม ประโยตัง มีวัวอยู่ทั้งสิ้น 13 ตัว ปล่อยให้หากินเองตามธรรมชาติโดยมีเด็กๆ ลูกหลานคอยทำหน้าที่เลี้ยงวัวและอาจจะเป็นคนรุ่นต่อไปที่จะสืบทอดอาชีพนายฮ้อยในอนาคต

เทคนิคการเลี้ยงพ่อวัวพันธุ์

วัวพันธุ์ที่นายเทียม เลี้ยงคือ พันธุ์อเมริกัน บรามัน ที่กำลังเป็นที่นิยม ราคาพ่อพันธุ์ตกถึงตัวละ 60,000 กว่าบาท แต่แม้ว่าราคาจะสูง การเลี้ยงวัว"พ่อพันธุ์"ก็เป็นอาชีพที่รายได้งดงาม โดยเทคนิคการเลี้ยงวัวพ่อพันธุ์ นอกจากทำคอกให้ไว้ใต้ถุนบ้าน ดูแลอย่างดีแล้ว อาการพ่อพันธุ์ยังไม่ใช่หญ้าแบบเดียวกับที่เลี้ยงวัวตัวอื่นๆ แต่เป็นกล้วยกับรำ ที่นายเทียมใส่ใจนำมาให้เป็นพิเศษ

รายได้จากการเลี้ยงพ่อพันธุ์วัว
- นำวัวไปผสมพันธุ์ ครั้งละ 500 บาท
- ค่าน้ำมันรถ ค่าเดินทาง ครั้งละ 100-200 บาท (ตามแต่ระยะทาง)
วัวพ่อพันธุ์ตัวหนึ่งๆ สามารถผสมพันธุ์ได้มากกว่าวันละ 1 ครั้งและช่วงที่โตเต็มที่นายเทียมเล่าว่า พ่อพันธุ์ของตนต้องเดินทางไปผสมพันธุ์ทุกวัน มากกว่าวันละ 1 บ้านและเคยต้องเดินทางไปถึง 3 บ้านในวันเดียวกัน เพราะความต้องการพ่อพันธุ์มีสูงมากนั้นเอง

ถ้าขยัน อดทน รับรอง ไม่มีทางจน
นายเทียม ประโยตัง เป็นหนึ่งในชาวบ้านโคกล่าม แสงอร่าม ที่ประกอบอาชีพมากกว่า 1 อย่าง นอกจากการค้าวัวและทำนาแล้ว นายเทียมยังมีชื่อเรื่องการเพาะปลูกเห็ดฟาง แบบตั้งกองกับพื้นดิน ปลูกพืชหลังนาหลากชนิด อีกทั้งเป็นพ่อค้า แม่ค้าในตัวเอง โดยเช้าขึ้นมานายเทียมและภรรยาจะออกไปเก็บเห็ดในแปลง เก็บผักสวนครัว และหักข้าวโพดมาต้ม เพื่อนำไปจำหน่ายยังตลาดหนองวัวซอ ในแต่ละวันจะได้เห็ดกว่า 6-7 เข่ง ได้รายได้วันละ 4,000-5,000 บาท ไม่รวมกับค่าข้าวโพดที่ต้มไปขายก็ขายหมดทุกวันเช่นกัน

"ทำเห็ดก็มีต้นทุนแปลงละ 2,000-2,200 บาท เป็นค่ากากมันสำปะหลังแต่เพราะว่าเรามีรถเองก็เลยลดลงมาเหลือประมาณ 1,500-1,600 บาทต่อ 20 แปลง แปลงนึงมี 8 แถวพอเห็ดออกรวมๆแล้วขายได้เป็นกำไร 7,000-10,000 กว่าบาทในรอบนึง ใช้เวลาประมาณไม่ถึงเดือน เพราะว่าเราปลูกแบบหมุนเวียน ทำครั้งละหลายๆแปลงพอแปลงนี้จะหมด ก็เริ่มเก็บแปลงนั้นหมุนเวียนไปทำให้มีรายได้ทุกวัน พอเริ่มรอบเห็ดออกรอบหลังๆ ไม่ค่อยสวยเราก็ไม่เอาไปขายแล้ว เก็บแจกจ่ายพี่น้อง เพื่อนบ้านกิน เราขายเฉพาะเห็ดชุดแรกๆ แล้วเห็ดของเราขาว ดอกใหญ่ก็ขายดี ไปขายหนองวัวซอจนขายไม่ไหว เอาไปเท่าไหร่ก็ขายหมดเราขายเห็ดแถมข้าวโพดต้มบ้างอะไรบ้าง ขายดี" นายเทียมเล่าถึงการทำมาหากิน ที่ทำผลผลิตออกมาเท่าไหร่ก็ขายหมด

วันนี้ของครอบครัวประโตยัง ดูจะเต็มไปด้วยวันที่เต็มไปด้วยความสำเร็จ เสียงหัวเราะของภรรยานายเทียมดังแทรกเข้ามาเรื่อยๆ ตลอดระยะเวลาการพูดคุย แต่ก่อนหน้านี้ใช่ว่าหนทางเดินจะราบเรียบ นายเทียมก็เหมือนกับคนอื่นๆ อีกหลายคน ที่ชีวิตหันเหไปหาเหล้ายาปลาปิ้ง จนเมื่อวันนึง เขามองเห็นลูกแล้วก็ "คิดได้" ว่าจะกินเหล้าจนวันหนึ่งลูกลุกขึ้นมากินเหล้าร่วมวงกับพ่อหรืออย่างไร เพียงคิดได้เท่านี้ก็ตัดสินใจเลิกเหล้าโดยเด็ดขาดนับแต่วันนั้นแล้วหันมาทุ่มเทเรี่ยวแรงทั้งหมดให้กับการทำมาหากิน จนวันนี้กล่าวได้ว่านายเทียม ประโยตัง ประสบความสำเร็จในอาชีพที่หลากหลาย

"ถ้าขยันนี่ ไม่มีวันจนนะ ลูกหลานไปทำงานเมืองนอก ยังไม่ได้เท่าเราเลย ของเขามีแต่รับเป็นรายเดือน แต่ของเรารับทุกวัน" เทียม ประโยตัง กล่าวปิดท้ายถึงเคล็ดลับความสำเร็จ

เทคนิคการเพาะเห็ดฟางแบบกองดิน
วัตถุดิบสำคัญของการเพาะเห็ดแบบกองดิน คือ กากมันสำปะหลังที่เหลือใช้ในขบวนการผลิตแป้งมัน ซึ่งจะมีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่กากดิน กากล้างและกากแป้ง กากดินจะได้จากการทำความสะอาดหัวมันสำปะหลังครั้งแรก ก่อนนำเข้าสู่กระบวนการผลิต จะมีเศษดิน เศษเปลือกนอก ลักษณะเป็นเหมือนดิน น้ำหนักมาก กากล้างได้จากการล้างหรือเปียกล้าง จะได้จากการทำความสะอาดครั้งที่ 2 ลักษณะจะมีน้ำปนออกมาสารอาหารที่เห็ดต้องการมีมาก ส่วนกากแป้งหรือกากเปียกจะได้จากขบวนการผลิตสุดท้าย จะมีลักษณะเปียกชุ่มมากสีออกขาว เนื้อละเอียด มีสารอาหารยังคงเหลืออยู่มาก สูตรของการผสมกากมันในแต่ละโรงงานไม่เหมือนกัน ส่วนสูตรของนายเทียมนั้นใช้ กากดินผสมกับกากเปียกและกากล้างรวมกันทั้ง 3 ชนิด

วัตถุดิบสำหรับเพาะเห็ดฟาง
1.กากมันสำปะหลังผสมแล้วจากโรงงาน
2.ไม้แบบขนาด 60x30 ซม. สูง 20 ซม.
3.ไม้โครง (ไม้ไผ่ผ่าซีกกว้าง 1 นิ้ว ยาว 1.60 เมตร)
4.ฟางตากแห้งสนิท เก็บไว้โดยไม่เปียกชื้น ห้ามใช้ฟางสกปรก หรือฟางขึ้นราง
5.พลาสติกสำหรับคลุมกองฟาง
6.เชื้อเห็ด
7.ปุ๋ยคอกเพื่อเป็นอาหารสำหรับเห็ด

วิธีการเลือกพื้นที่สำหรับเพาะเห็ดฟางแบบกองดิน
การเลือกสถานที่เพาะเห็ดเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ เนื่องจากการเพาะเห็ดฟางแบบกองที่สำคัญคือจะต้องไม่เป็นพื้นที่ดินเค็ม นอกจากนั้นจะต้องคำนึงถึงสภาพแวดล้อมด้วย ที่สำคัญคือต้องปราศจากยาฆ่าแมลง ยากันเชื้อรา เป็นที่โล่งน้ำไม่ท่วม มีการระบายน้ำได้ดี และต้องไม่เป็นที่เคยเพาะเห็ดฟางมาก่อน การทำเห็ดกองลานจะทำกองดินหมุนเวียนไปปลูกผักต่างๆ แทนเพราะกากที่เหลือจากการผลิตเห็ดจะกลายเป็นปุ๋ยให้กับพืชผักและหากต้องการเวียนกลับมาเพราะเห็ดฟางกองดินบนพื้นที่นั้นอีก จะต้องขุดดินตากแดดจัดไว้ 7 วัน เพื่อฆ่าเชื้อโรคต่างๆ ป้องกันโรคโดยเฉพาะเชื้อรา

วิธีเพาะเห็ดฟาง

1.การตั้งกองดิน
1.1 มันสำปะหลัง 1 รถบรรทุกได้ประมาณ 2.3-2.4 ตัน กองตามจุดต่างๆ ที่จะทำกองเห็ด (ปริมาณนี้ทำได้ 20 แปลง แปลงละ 8 กองดิน)
1.2 นำบล็อกไม้ที่เตรียมไว้มาเตรียมการตั้งกองดิน โดยตักกากมันมาใส่ในถังสีเพื่อกะน้ำหนักให้เท่ากันปริมาณ 1 ถังสีต่อบล๊อก เทกากมันแล้วเหยียบให้แน่น ก่อนยกบล็อกขึ้นจะได้กองดินสำหรับเพาะเห็ด 1 กอง
1.3 เลื่อนบล็อกไปให้ห่างจากกองดินแรก 10-15 ซม.ก่อนตั้งกองดินต่อไปทำเช่นนี้จนครบ 8 กองดิน เรียกว่า 1 แปลงเห็ด ทำซ้ำจนได้ 20 แปลง ขณะต้องกองดินหากกากมันสำปะหลังแห้งเกินไป ให้รดน้ำพอเปียก ไม่ให้กองดินแตก

2.การเตรียมเชื้อเห็ด
2.1 เตรียมเชื้อเห็ดด้วยการผสม ส่วนผสมตามอัตราส่วน ดังนี้
แป้งข้าวเจ้า 50 กรัม
เชื้อเห็ดฟาง 2 ถุง
หัวอาหารเห็ดฟาง 1 ช้อน
รำ 50 กรัม
(อัตราส่วนสำหรับแปลงเห็ดฟาง 1 แปลง)
2.2 ผสมส่วนผสมทั้งหมดให้เข้ากัน นำไปโรยบริเวณแปลงเห็ดฟากเปียกที่ขึ้นบล็อกไว้แล้ว โดยโรยให้ทั่วทั้งที่เป็นบล็อกและส่วนพื้น
2.3 รดน้ำให้ทั่วแปลงเห็ด พอให้ชุ่ม

3.การดูแล และการเก็บผลผลิต
3.1 เมื่อตั้งกองดินและโรยเชื้อเห็ดจนทั่วแล้ว ให้คลุมด้วยแผ่นพลาสติกให้มิดชิดโดยคลุม 2 ชั้น ใช้ปลายด้านหนึ่งซ้อนทับปลายพลาสติกอีกด้านบริเวณด้านบนของกองเห็ด
3.2 คลุมทับด้วยกองฟางอีกชั้นหนึ่ง
3.3 ปิดไว้ให้มิดชิดเป็นเวลา 3 วัน แล้วจึงเปิดเพื่อให้มีอากาศเข้าไปในแปลงเห็ดฟางเล็กน้อย สังเกตจะพบการเดินของเชื้อเห็ด เห็นเป็นเส้นใยคล้ายใยแมงมุมเต็มไปหมด
3.4 ขึ้นโครงไม้ไผ่เพื่อให้มีอากาศภายใน จากนั้นคลุมพลาสติกคลุมบนโครงไม้ไผ่อีกชั้นหนึ่ง นำฟางกลบซ้ำอีกชั้น พักไว้อีก 3-4 วัน เปิดให้อากาศอีกครั้ง ดูการเติบโตของเห็ด ระยะนี้จะเห็นเป็นเม็ดขาว
3.5 หลังจากนั้น 4-7วันสามารถเริ่มเก็บเห็ดได้ ขึ้นอยู่กับสภาพอากาศ เห็ดชอบอากาศร้อนแล้ว ทำให้โตเร็ว

4.ผลผลิตและการจำหน่าย
4.1 ปริมาณเห็ดที่เก็บได้ ต่อแปลงปริมาณเฉลี่ยแปลงละ 3 กิโลกรัมต่อวันโดยสามารถเก็บเห็ดได้ 3 รอบขึ้นไปหากได้รับการดูแลที่ดี เห็ดรอบ 2 อาจมีปริมาณลดลงกว่ารอบที่ 1 แต่เมื่อถึงรอบที่ 3 จะกลับมีปริมาณเพิ่มขึ้นอีกครั้ง
4.2 ปริมาณเห็ดทั้งหมดที่เก็บได้ต่อแปลง ประมาณ 20 กก. ระยะเวลารอบละ 15 วัน
4.3 การจำหน่าย ใช้การขายด้วยตัวเองที่ตลาดนัดทำให้ได้ราคา เพราะสูตรแป้งข้าวจ้าวจะเพิ่มความขาวให้กับเห็ด เคยจำหน่ายได้ถึงกิโลกรัมละ 80 บาท แต่โดยเฉลี่ยแล้วราคาเห็ดฟางจะอยู่ที่ 40-60 บาท

รายได้จากการเพาะเห็ดฟากแบบกองดิน
นายเทียม ประโยตัง มีต้นทุนต่อรอบดำเนินการ (20 แปลง) ประมาณ 1,500-1,600 บาท เป็นค่ากากมันตันละ 350 บาท และค่าเชื้อเห็ด ส่วนฟากและปุ๋ยคอกหามาได้จากที่นา และปุ๋ยคอกเอง โดยนายเทียมใช้รถตัวเองไปบรรทุกกากมันจากโรงงานซึ่งทำให้ค่าใช้จ่ายถูกลง แต่ถ้าเกษตรกรรายอื่นๆ ที่ไม่มีรถบรรทุกจะต้องว่าจ้างรถด้วยต้นทุนต่อ 20 แปลงจะอยู่ที่ 2,000-2,200 บาท หรือเฉลี่ยแปลงละ 100-120 บาท
- เฉลี่ยต้นทุนตั้งกองดินเพื่อเพาะเห็ดฟาง 100-120 บาท
- รายได้จากการจำหน่ายต่อรอบ/แปลง 800-1,200 บาท
- ต่อปีปลูกเห็ดได้ 6 รอบหมุนเวียนไปในพื้นที่ มีรายได้เฉลี่ย 100,000 กว่าบาท
เคล็ดลับการทำเห็ดฟางกองดินของนายเทียม คือ ทำเป็นรอบๆ ต่อเนื่องกันไปทำให้มีรายได้หมุนเวียน เห็ด 20 แปลง จะได้รายได้ทุกวันวันละ 4,000-5,000 บาท จากการเก็บผลผลิตไปขายที่ตลาดหนองวัวซอ โดยเห็ดจะขึ้นดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับอากาศส่วนการจำหน่ายเห็ด ราคาจะดีหรือไม่ขึ้นอยู่กับปริมาณของเห็ดที่มีเกษตรกรไปจำหน่ายในตลาดนั้น

บทความอื่นๆ

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ