#เชื่อมั่นเศรษฐกิจพอเพียง ตอน รักษิณา ไกรดำ "เราไม่ได้เก่งคนเดียว"
“เราไม่ได้เก่งคนเดียว เราต้องพึ่งหน่วยงานที่เขาเชี่ยวชาญ เราได้ เขาได้ สุดท้าย...ชาวบ้านได้ประโยชน์”
การบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาพื้นที่ คือ หัวใจสำคัญของ “โครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ ตามพระราชดำริ (พชร.) บ้านแม่ก๋อน ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ พื้นที่ที่มีชายแดนติดกับประเทศเมียนมาร์ มีปัญหาหลากหลายมิติ และมีชาวบ้านหลากหลายชาติพันธุ์
แต่ก่อนจะเข้าสู่กระบวนการแก้ปัญหา การสำรวจข้อมูลเพื่อรู้จักชาวบ้าน รู้จักพื้นที่ และรู้ถึงปัญหา คือ จุดเริ่มต้นของการพัฒนา “แผนที่เดินดิน” คือ การสำรวจข้อมูลที่เจ้าหน้าที่ของมูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ ใช้วิธีการเดินเข้าไปคุยกับชาวบ้านทุกหลังคา เดินเข้าไปทุกวัด เดินเข้าไปทุกโรงเรียน
“แม้ใครจะมองว่าเชย แต่เราคิดว่านี่เป็นวิธีที่จะเข้าถึงชาวบ้าน และเข้าใจถึงปัญหาของชาวบ้านได้อย่างถ่องแท้มากที่สุด” รักษิณา ไกรดำ หัวหน้าโครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ ตามพระราชดำริ บ้านแม่ก๋อน ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ เชื่อเช่นนั้น
ข้อมูลที่ได้มาด้วยความเข้าถึง ทำให้พบว่า บ้านแม่ก๋อน แม้จะเป็นหมู่บ้านต้นน้ำ แต่ทว่าชาวบ้านกลับประสบปัญหาขาดแคลนน้ำในช่วงหน้าแล้ง ไม่มีน้ำทำการเกษตรได้เลย ดังนั้นการแก้ปัญหาแบบเร่งด่วนที่ตรงใจชาวบ้านมากที่สุด คือ เรื่องน้ำ
แม้บ้านแม่ก๋อนจะมีชาวบ้านหลากหลายชนเผ่า แต่ความสามัคคีร่วมมือร่วมใจ คือ จุดเด่นของชาวบ้านที่นี่ ยิ่งได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ทั้งในเรื่ององค์ความรู้ และเรื่องวัสดุอุปกรณ์ในการสร้างฝาย สร้างบ่อพวงสันเขา และสร้างระบบน้ำ ชาวบ้านจึงพร้อมใจลงแรงร่วมทำเต็มที่ ระยะเวลาเพียงไม่นาน “น้ำ” ที่เคยขาดแคลน ก็กลับมาหล่อเลี้ยงได้ทั้ง 7 หย่อมบ้าน สร้างความเชื่อมั่นศรัทธาให้กับชาวบ้านได้อย่างดีที่สุด เพราะฉะนั้นการพัฒนาต่อจากนี้ชาวบ้านแม่ก๋อนจึงพร้อมใจเปิดรับเต็มที่
“เราไม่ได้เก่งคนเดียว เราต้องพึ่งหน่วยงานที่เขาเชี่ยวชาญ” หัวใจสำคัญของการพัฒนาในรูปแบบของ พชร. จึงได้ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้ง โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงห้วยเป้า มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ สำนักงานปศุสัตว์ อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ สำนักงานพัฒนาชุมชน อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ และเทศบาลตำบลทุ่งข้าวพวง เพื่อนำองค์ความรู้มาแก้ปัญหา และเกิดการพัฒนา จนเกิดการรวมกลุ่มสร้างอาชีพให้กับชาวบ้านแม่ก๋อนได้ถึง 5 กลุ่ม คือ กลุ่มกล้วยฉาบ (วิสาหกิจชุมชน) กลุ่มผักในโรงเรือน กลุ่มปศุสัตว์ (หมู/ไก่พันธุ์ไข่) กลุ่มประมง และกลุ่มสมุนไพร ซึ่งผลจากการบูรณาการองค์ความรู้กับหน่วยงานต่างๆ ทำให้ทุกกลุ่มเข้มแข็ง ชาวบ้านได้รับองค์รวมรู้ที่สามารถพัฒนาต่อยอดได้ด้วยตัวเอง
โครงการพัฒนาชนบทเชิงพื้นที่ประยุกต์ ตามพระราชดำริ (พชร.) บ้านแม่ก๋อน ต.ทุ่งข้าวพวง อ.เชียงดาว จ.เชียงใหม่ “สุดท้าย...ชาวบ้านได้ประโยชน์” อย่างแท้จริง