โครงการทุเรียนคุณภาพ พื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
โครงการเสริมประสิทธิภาพการผลิตสินค้าการเกษตรให้มีคุณภาพ ตามศาสตร์พระราชาในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้
ความเป็นมา
มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ได้โครงการเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรให้มีคุณภาพตามศาสตร์พระราชา จังหวัดชายแดนใต้หรือโครงการทุเรียนคุณภาพ ในปี 2561 ที่อำเภอบันนังสตา จังหวัดยะลา
ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในปี 2561 ได้นำไปสู่การขยายผลในจังหวัดชายแดนภาคใต้ทั้งยะลา ปัตตานี และนราธิวาสประมาณ 500 ราย ตั้งแต่ปี 2562 จนถึงปัจจุบัน โดยการพัฒนาได้ดำเนินงานอย่างเป็นขั้นเป็นตอน ตั้งแต่การคัดเลือกเกษตรกร การให้ความรู้ในการปรับเปลี่ยนวิธีการผลิตให้ได้คุณภาพ การพัฒนาอาสาสมัครทุเรียนคุณภาพทำหน้าที่ในการสนับสนุน รวมทั้ง การเตรียมแผนการดำเนินงานด้านอื่น ๆ ตามศาสตร์พระราชา ตั้งแต่การพัฒนาโครงสร้างพื้นที่ด้านน้ำ ดิน องค์ความรู้ทั้งการผลิต โรคพืช แมลง การเก็บเกี่ยว เพื่อให้ได้ผลผลผลิตที่มีคุณภาพเป็นที่ต้องการของตลาดเชื่อมโยงกับแหล่งรับซื้อทั้งในและต่างประเทศ สร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นตัวอย่างให้เกษตรกรนำไปเป็นแบบอย่าง เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจนและลดเงื่อนไขในมิติความมั่นคงของจังหวัดชายแดนภาคใต้ในที่สุด
หลักคิดในการดำเนินงาน เพื่อเป็นการนำแนวพระราชดำริ มาแก้ไขปัญหาความยากจนและลดเงื่อนไขมิติความ มั่นคงของจังหวัดชายแดนใต้ โดยการยกระดับการผลิตไม้ผลให้มีคุณภาพ ควบคู่กับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจมุ่ง สู่ความเป็นเลิศ (Excellent) เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในระบบตลาด
หลักเกณฑ์การคัดเลือกผู้ร่วมโครงการ คือ มีความขยันและซื่อสัตย์ สมัครใจและมีความพร้อมในการปฏิบัติตาม เงื่อนไขของโครงการฯ มีการจัดการแปลงแบบประณีตเบื้องต้น มีระบบน้ำในแปลง รวมทั้งการพิจารณาความ สมบูรณ์ของสภาพต้นทุเรียนที่เข้าร่วมโครงการฯ
แนวทางการดำเนินงาน
- น้อมนำแนวพระราชดำริที่เกี่ยวข้องมาเป็นหลักในการดำเนินโครงการทุเรียนคุณภาพ จังหวัดชายแดนภาคใต้ ควบคู่กับการบริหารจัดการเชิงธุรกิจ มุ่งสู่ความเป็นเลิศ (Excellent) และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันในระบบตลาด เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดเงื่อนไขด้านความมั่นคงในพื้นที่ จังหวัดชายแดนภาคใต้
- ยกระดับการผลิตไม้ผลโดยใช้ศาสตร์พระราชาควบคู่ไปกับหลักวิชาและหลักภูมิปัญญา เพื่อสร้างรายได้ให้เกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรนำไปเป็นแบบอย่าง
- นำหลักการบริหารจัดการเชิงธุรกิจมาใช้กับระบบการผลิตในภาคเกษตร โดยเน้นให้เกษตรกรผลิตทุเรียนที่มีคุณภาพตามหลักทฤษฎีใหม่ 3 ขั้น ที่เริ่มจากการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านระบบน้ำ แล้วจึงพัฒนากระบวนการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพโดยจัดทำคู่มือการผลิตทุเรียนที่มีมาตรฐาน ควบคู่กับการถ่ายทอดความรู้ นำไปศึกษาดูงาน ติดตามแก้ไขปัญหาในแปลง การพัฒนาระบบเทคโนโลยีและสารสนเทศประมวลผล
- การบริหารจัดการผลผลิตโดยการรวบรวม คัดเกรดให้ได้มาตรฐานทุเรียนคุณภาพเกรดส่งออกต่างประเทศด้วยเทคนิควิธีการที่ถูกต้อง ตามความต้องการของตลาด
- จัดให้มีอาสาทุเรียน เป็นกลไกขับเคลื่อนงานในระดับพื้นที่ ทั้งการวางแผน ให้คำปรึกษา แนะนำในทุกขั้นตอนการผลิต รวมทั้งกำกับ ติดตามและแก้ไขปัญหาให้กับเกษตรกร
การเตรียมการของปิดทองหลังพระ
-
การสร้างความเข้าใจภาคีเครือข่ายในทุกระดับ ตั้งแต่จังหวัดและอำเภอ โดยเฉพาะบุคคลที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ ตั้งแต่ เกษตรอำเภอ เกษตรตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ผู้บริหารหน่วยงานปกครองท้องถิ่น และ ผู้นำศาสนา
- การค้นหาปัญหา ความต้องการ และสร้างกติการ่วมกัน ด้วยการประชาคมรับฟังความเห็นตามหลักการทรงงาน “ระเบิดจากข้างใน” จากเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย แล้วจัดทำเป็นแนวทางการดำเนินงานที่ครอบคลุมตั้งแต่กระบวนการผลิต จนถึงกระบวนการตลาด และก่อนดำเนินการได้กำหนดเงื่อนไขให้เกษตรกรต้องปฏิบัติตามบันทึกข้อตกลงที่เห็นพ้องร่วมกัน
- การคัดเลือกเกษตรกรและอาสาสมัครทุเรียนคุณภาพ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงาน พร้อมทั้งการจัดทำคู่มือการผลิตทุเรียนคุณภาพและพัฒนาบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับโครงการฯ โดยจัดทำคู่มือทุเรียนคุณภาพได้รับความร่วมมือจากกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทั้งกรมวิชาการเกษตร และกรมส่งเสริมการเกษตร สำหรับเรื่องการพัฒนาบุคลากร ได้นำเกษตรกร อาสาทุเรียน และส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ไปอบรมที่ศูนย์เรียนรู้การเกษตรพอเพียง ต.วังหว้า อ.แกลง จ.ระยอง
- ด้านการส่งเสริมการผลิต ได้วางแผนปฏิบัติงาน โดยให้อาสาทุเรียน ออกไปปฏิบัติงานทั้งในเรื่องการสร้างความเข้าใจในโครงการฯ การให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตทุเรียนให้ได้คุณภาพ ตั้งแต่ การจัดการระบบน้ำในแปลง การติดตามในการผลิตทุเรียนตามช่วงการเจริญเติบโตในคู่มือทุเรียนคุณภาพฯ ตลอดจน การสนับสนุนปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพในลักษณะกองทุนโดยเกษตรกรยืมและจะเก็บเงินคืนภายหลังการเก็บเกี่ยวผลผลิต
- ด้านการติดตามและแก้ไขปัญหา กำหนดให้อาสาทุเรียนคุณภาพตรวจติดตามแปลงเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการเป็นประจำ ทั้งเป็นรายบุคคลและคณะ บางโอกาสให้นำผู้เชี่ยวชาญ/องค์ความรู้เฉพาะด้าน ไปสาธิตให้แก่เกษตรกรด้วย และ กรณีที่พบปัญหา อุปสรรค เกี่ยวกับการผลิตจะดำเนินการแก้ไขหรือหากพบปัญหาที่เกินขีดความสามารถของอาสาทุเรียน ก็จะประสานให้มูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ทราบและเข้าไปแก้ไขปัญหา
- ด้านการตลาด พัฒนาระบบตั้งแต่ เมื่อทุเรียนเริ่มออกดอก อาสาทุเรียน จะเริ่มจดวันดอกบาน และ คาดการณ์ผลผลิต เพื่อหาปริมาณผลผลิต และ มูลนิธิฯ จะประสานกับตลาดทั้งในและต่างประเทศ ในการรองรับผลผลิต โดยผลผลิตได้เตรียมการรวบรวมไว้ที่ ตลาดการยางแห่งประเทศไทย เพื่อกระจายไปสู่ลูกค้าตลาดต่าง ๆ
ตารางแสดงผลการดำเนินงานของโครงการ
ปี |
เกษตรกรที่เข้าร่วม |
ผลผลิต(ตัน) |
รายได้ |
พัฒนาการของโครงการ |
2561 |
18 |
33.4 |
2.33 |
ศึกษาหาแนวทางโครงการร่วมกับเกษตรกร |
2562 |
664 |
16.99 |
102 |
ขยายผลครอบคลุมพื้นที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ |
2563 |
645 |
1,687 |
141 |
พัฒนาระบบฐานข้อมูล การติดตามผลการดำเนินงานของเกษตรกรในแปลง การพัฒนากองทุนปัจจัยการผลิต รวมถึงการรวบ คัดเกรด และ ขายผลผลิตทั้งในและต่างประเทศ |
2564 |
564 |
1,933 |
116.43 |
ประเมินเกษตรกรตามกระบวนการขั้นตอนการผลิต 4 ระยะ |
ประโยชน์ที่ได้รับในภาพรวม
1. เกษตรกรเกิดความรู้ ความเข้าใจ และเห็นประโยชน์ของการนำแนวพระราชดำริที่เกี่ยวข้องมาประยุกต์ใช้กับการผลิตทุเรียนให้มีคุณภาพในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่จะนำไปสู่การพึ่งพาตนเองได้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง
2. เกษตรกรเห็นความสำคัญและเกิดความเข้าใจในการนำหลักการบริหารจัดการเชิงธุรกิจมาใช้กับระบบการผลิตในภาคเกษตร โดยเฉพาะในเรื่องการผลิตทุเรียนคุณภาพ
3. เกษตรกรในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่เข้าร่วมโครงการฯ มีรายได้เพิ่มขึ้นและเป็นตัวอย่างให้เกษตรกรอื่นนำไปเป็นแบบอย่าง เป็นการแก้ไขปัญหาความยากจน และลดเงื่อนไขในมิติความมั่นคงของพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ในที่สุด
ทิศทางการดำเนินงานในอนาคต
สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มกันผลิตทุเรียนคุณภาพ ในรูปแบบวิสาหกิจชุมชน เพื่อร่วมกันสร้างความยั่งยืนในการประกอบอาชีพ ฐานะทางเศรษฐกิจ และดำรงชีวิตได้อย่างมีความสุข เพราะการรวมกันเป็นวิสาหกิจชุมชนนั้น สามารถสร้างพลังที่จะต่อรอง แสวงหาความร่วมมือและการส่งเสริมสนับสนุนจากทุกฝ่ายได้อย่างเป็นระบบ ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน รวมทั้งคู่ค้าทั้งหมด
ปิดทองหลังพระฯ จึงมุ่งที่จะสานต่อความสำเร็จไปสู่ความสำเร็จในปีต่อไป ด้วยการส่งเสริมให้พี่น้องร่วมคิด ร่วมทำ และร่วมกันสร้างประโยชน์ให้กับตนเองและชุมชน ด้วย
“วิสาหกิจชุมชนผู้ผลิตทุเรียนคุณภาพ”