แนวพระราชดำริเกี่ยวกับน้ำ
โครงการพระราชดำริเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย เกิดขึ้นเพื่อแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ต่างๆ ของประเทศไทย อันเกิดจากน้ำล้นตลิ่ง และไม่มีการระบายน้ำที่สมบูรณ์ ดังนั้น เมื่อเกิดฝนตกหนักในแต่ละครั้ง ก็มักประสบปัญหา ทำให้เกิดน้ำท่วมขังบนพื้นที่ หรือที่เรียกว่า “อุทกภัย” ซึ่งสร้างความเสียหายให้แก่พื้นที่เพาะปลูกและทรัพย์สินต่างๆจำนวนมาก
โครงการในพระราชดำริอีกโครงการหนึ่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คือ โครงการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม หรือพื้นที่ซึ่งมีน้ำท่วมขังจนใช้เพาะปลูกไม่ได้ เพื่อให้พื้นที่ดังกล่าวกลับมามีประโยชน์ทางการเกษตรได้อีกครั้ง สาเหตุหลักๆ ที่ทำให้พื้นที่ลุ่มหลายแห่งไม่มีศักยภาพปลูกพืชได้ เพราะมีลักษณะเป็นพื้นที่ราบลุ่มคล้ายแอ่งรับน้ำที่ไหลลงมาจากที่สูงหรือจากลำน้ำเข้าไปเก็บขังไว้ แล้วไม่อาจระบายน้ำทิ้งออกไปได้หมดตามธรรมชาติ จนเกิดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานานๆ ติดต่อกัน ซึ่งเป็นปัญหาที่พบมากทางภาคใต้
การระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม นอกจากจะเกิดประโยชน์ด้านการเกษตรแล้ว พื้นที่ในเขตชุมชนซึ่งมีระดับต่ำและไม่มีระบบระบายน้ำที่สมบูรณ์ ก็จะช่วยกำจัดน้ำขังให้ออกไปจากพื้นที่ และลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้นกับทรัพย์สินของประชาชน ยามที่ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นระยะเวลานานๆ ได้ โดยในการระบายน้ำออกจากพื้นที่ลุ่ม มีงานสำคัญที่จะต้องดำเนินการ ได้แก่ งานขุดหรือปรับปรุงคลองระบายน้ำภายในบริเวณพื้นที่ลุ่มให้ระบายน้ำจำนวนมากออกจากพื้นที่ ไปยังลำน้ำสายใหญ่หรือทะเลได้อย่างสะดวก กระทั่งพื้นที่ที่เคยเจิ่งนองไปด้วยน้ำกลับมาใช้ประโยชน์ในการเพาะปลูกพืชได้อีกครั้ง
นอกจากงานขุดหรือปรับปรุงคลองระบายน้ำที่กล่าวไปต้นแล้ว ที่ปลายคลองระบายน้ำแต่ละสาย ยังควรมีการก่อสร้างอาคารประตูหรือท่อระบายน้ำ เพื่อทำหน้าที่ควบคุมการเก็บกักน้ำไว้ในคลองและป้องกันการไหลย้อนของน้ำจากด้านนอกขณะที่มีระดับสูง นอกจากนั้น หากเป็นพื้นที่ในเขตชุมชนหรือพื้นที่เพาะปลูกที่มีความสำคัญมาก อาจต้องมีการพิจารณาก่อสร้างโรงสูบน้ำขนาดใหญ่ เพื่อสูบน้ำภายในพื้นที่ออกในตอนที่ระดับน้ำภายนอกขึ้นสูงอีกด้วย อย่างไรก็ดี การพิจารณาว่าจะสร้างโรงสูบน้ำหรือไม่สร้างนั้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมเป็นสำคัญ
กรุงเทพมหานคร ในฐานะที่เป็นเมืองหลวงของประเทศ ทุกครั้งที่ประสบกับปัญหาอุทกภัย จึงไม่เพียงแต่สร้างความเดือดร้อนแก่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่เท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์ประเทศต่อสายตาชาวโลก ครั้งหนึ่งในปี พ.ศ. 2523 กรุงเทพฯ เคยเผชิญกับสภาวะน้ำท่วมรุนแรง พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงห่วงใยในความเดือดร้อนที่เกิดกับชีวิตและทรัพย์สินของประชาชน จึงพระราชทานพระราชดำริการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้น ให้ดำเนินการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเล โดยใช้ประโยชน์จากคลองที่อยู่ฟากฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เป็นทางระบายน้ำ ส่วนระยะยาวให้ดำเนินการดังนี้
"การจัดการควบคุมระดับน้ำในคลองสายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดระบบระบายน้ำในกรุงเทพมหานครนั้น สมควรวางระบบให้ถูกต้องตามสภาพการณ์และลักษณะภูมิประเทศ ซึ่งควรแบ่งออกเป็น 2 แผนด้วยกัน คือ แผนสำหรับใช้กับในฤดูฝนหรือในฤดูน้ำมากนี้ ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันน้ำท่วมและเพื่อบรรเทาอุทกภัยเป็นสำคัญ แต่แผนการระบายน้ำในฤดูแล้งนั้น ก็ต้องจัดอีกแบบหนึ่งต่างกันออกไปเพื่อการกำจัดหรือไล่น้ำเน่าเสียออกจากคลองดังกล่าวเป็นหลัก"
พระราชดำรัส 4 ธันวาคม พ.ศ. 2538
ต่อมาในปี พ.ศ. 2526 ได้เกิดอุทกภัยในกรุงเทพฯ อีกครั้ง ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกร พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ได้เสด็จฯ ตรวจพื้นที่น้ำท่วมและพระราชทานแนวทางในการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง กรมทางหลวงได้น้อมรับพระราชดำริ ด้วยการจัดเร่งระบายน้ำบนพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยโดยเร็วเพื่อมิให้น้ำสะสมจนท่วมขัง โดยให้สำนักทางหลวง แขวงการทาง ดูแลขุดลอกคลองตามธรรมชาติที่ไหลผ่านทางหลวงให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะรองรับปริมาณน้ำให้ไหลผ่านได้ พร้อมทั้งประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน และกรมเจ้าท่า ดำเนินงานขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและขยายช่องทางน้ำที่ตีบตัน เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธิ์ภาพ สามารถเร่งระบายลงสู่อ่าวไทยได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ไหลบ่ามาจากทางด้านเหนือระบายลงสู่อ่าวไทยโดยแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนด้านทิศตะวันตก ในส่วนของด้านตะวันออกเป็นพื้นที่ลุ่ม มีคลองและแม่น้ำเส้นเล็กๆ เช่น แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกงเป็นเส้นทางระบายน้ำ แต่ความสามารถในการระบายน้ำมีข้อจำกัด ทำให้มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ส่วนนี้ ต่อเนื่องลึกเข้าไปสู่พื้นที่ชั้นกลางและชั้นในของกรุงเทพฯ
สาเหตุที่น้ำท่วมในพื้นที่ด้านตะวันออกเพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม อีกทั้งยังต้องรองรับน้ำจากแหล่งต่างๆ ดังนี้
แนวทางที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชพระราชทานแก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อป้องกันและบรรเทาอุทกภัย ได้แก่
การก่อสร้างทางผันน้ำหรือขุดคลองสายใหม่เชื่อมต่อกับแม่น้ำที่มีปัญหาน้ำท่วม มีหลักการอยู่ว่า จะผันน้ำในส่วนที่ไหลล้นออกไปจากลำน้ำโดยตรง ปล่อยน้ำส่วนใหญ่ที่มีระดับไม่ล้นตลิ่งให้ไหลอยู่ในลำน้ำเดิมตามปกติ วิธีการนี้ จะต้องสร้างอาคารเพื่อควบคุมและบังคับน้ำบริเวณปากทางให้เชื่อมกับลำน้ำสายใหญ่ และในกรณีต้องการผันน้ำทั้งหมดไหลไปตามทางน้ำที่ขุดใหม่ ก็ควรขุดลำน้ำสายใหม่แยกออกจากลำน้ำสายเดิม ตรงบริเวณที่เป็นแนวโค้ง ที่สำคัญระดับน้ำของคลองขุดใหม่จะต้องเสมอกับท้องลำน้ำเดิมเป็นอย่างน้อย หลังจากนั้นก็ปิดลำน้ำสายเดิม ตัวอย่างเช่น การผันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาทางตะวันตกที่ผันเข้าแม่น้ำท่าจีน แล้วผันลงสู่ จ.สุพรรณบุรี ก่อนระบายออกสู่ทะเล ส่วนด้านตะวันออก ผันน้ำเข้าคลองระพีพัฒน์เข้าสู่คลอง 13 จากนั้นระบายออกคลอง 14 โดยน้ำส่วนหนึ่งผันไปลงแม่น้ำบางปะกง อีกส่วนหนึ่งลงคลองพระองค์เจ้าไชยานุชิตผ่านลงสู่คลองชายทะเล หรือการผันน้ำออกสู่ทะเลโดยคลองสนามบิน คลองโคกเกลือ คลองบางเกวียนหัก คลองนินและคลองทะเลน้อย ซึ่งสามารถป้องกันไม่ให้น้ำท่วมตัว อ.หัวหิน แบบเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2546
ปรับปรุงสภาพลำน้ำด้วยการขุดลอกลำน้ำในบริเวณที่ตื้นเขิน ตกแต่งตลิ่งที่ถูกกัดเซาะ กำจัดวัชพืชหรือทำลายสิ่งกีดขวางทางไหลของน้ำออกจนหมด ในกรณีลำน้ำมีแนวโค้งมากเป็นระยะไกล อาจพิจารณาขุดคลองลัดเชื่อมบริเวณด้านเหนือค้างกับด้านท้ายโค้งซึ่งจะทำให้น้ำไหลผ่านได้เร็วขึ้น ตัวอย่างของโครงการลักษณะนี้เช่น การขุดคลองลัดโพธิ์ จ.สมุทรปราการ ซึ่งทำให้ร่นระยะทางน้ำได้ถึง 17 กิโลเมตร มีผลทำให้ระบายน้ำลงทะเลได้รวดเร็วขึ้น
การทำคันกั้นน้ำ เป็นการเสริมขอบตลิ่งให้มีระดับสูงขึ้นกว่าเดิม เพื่อเป็นวิธีป้องกันน้ำมิให้น้ำไหลลงตลิ่งเข้าไปท่วมพื้นที่จนเกิดความเสียหาย โครงการลักษณะนี้ เช่น การทำคันดินป้องกันน้ำท่วมบริเวณต่างๆ ในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งสามารถป้องกันน้ำจากแม่น้ำเจ้าพระยาและน้ำตามคลอง ไม่ให้ไหลบ่าเข้ามาท่วมกรุงเทพฯ ชั้นในและพื้นที่เศรษฐกิจได้เป็นอย่างดี
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดชทรงให้ขุดคลองระบายน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่ม ให้สามารถระบายน้ำออกจากพื้นที่ที่มีน้ำท่วมขังเป็นประจำ และก่อสร้างประตูระบายน้ำเพื่อควบคุมการเก็บกักน้ำในคลองและป้องกันน้ำท่วมจากบริเวณด้านนอก ไม่ให้ไหลย้อนเข้าไปในพื้นที่ ตัวอย่างเช่น โครงการแก้มลิง ที่พระองค์พระราชทานพระบรมราชาธิบายเกี่ยวกับระบบการบริหารจัดการน้ำท่วมที่เกิดขึ้นอย่างสม่ำเสมอในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล
วิธีการนี้เป็นการศึกษาหาความสัมพันธ์ของน้ำทะเลหนุนและปริมาณน้ำเหนือหลาก ผ่านเขตกรุงเทพฯ แล้วนำผลวิเคราะห์ไปใช้บริหารจัดการปริมาณน้ำเหนือที่ไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาและเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์
“ควรจะมีโครงการศึกษาพฤติกรรมการไหลของแม่น้ำเจ้าพระยา เพื่อควบคุมปริมาณน้ำเหนือหลากให้สอดคล้องกับสภาพน้ำทะเลหนุน ในช่วงฤดูฝนอย่างมีประสิทธิภาพ”