การนำแนวทางการกำจัดขยะและบำบัดน้ำเสีย มาใช้ให้เกิดประสิทธิภาพ เป็นการดำรงชีวิตอยู่ อย่างเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมในระยะยาว
แนวพระราชดำริที่พระราชทานในด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งเรื่องใกล้ชิดประชาชนมากที่สุดคือ การแก้ไขปัญหาขยะ และน้ำเสีย ที่นับวันจะก่อตัวและทวีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะในเขตชุมชนเมือง ที่มีกิจกรรมการผลิตหลากหลาย เช่น อาคาร ห้างร้าน โรงงานอุตสหกรรม บ้านเรือน ภาคการเกษตร ล้วนมีส่วนทำให้เกิดน้ำเสียและขยะจนกลายเป็นปัญหาใหญ่ของหลายเมือง ทั้งในด้านของสถานที่กำจัดขยะ ความรู้และเทคโนโลยีการจัดการ รวมถึงงบประมาณที่ใช้ในปริมาณสูง
ศ.ดร.เกษม จันทร์แก้ว ผู้อำนวยการโครงการศึกษาวิจัยและพัฒนาสิ่งแวดล้อมแหลมผักเบี้ย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้บรรยายเรื่องน้ำเสียและขยะ ในการเสวนา “เกษตรยั่งยืน ฟื้นฟูภูมิปัญญา พัฒนาสู่สากล” ในงานทักษิณวิชาการ-เกษตรแฟร์ ครั้งที่ 6 และนิทรรศการปิดทองหลังพระ วันที่ 27 สิงหาคม 2554 ดังนี้
“น้ำเสีย จริงๆ แล้วน้ำไม่ได้เสีย" แต่มีสิ่งที่ปนเปื้อนอยู่ในโมเลกุลของน้ำ การบำบัดน้ำเสีย คือ การขจัดสิ่งปนเปื้อนที่อยู่ในโมเลกุลของน้ำออกเสีย ซึ่งสามารถกระทำได้ 3 วิธี คือ กระบวนการทางฟิสิกส์ เคมี และชีววิทยา ขึ้นอยู่กับว่าเริ่มต้นด้วยวิธีการไหน ซึ่งทางเราจะเน้นกระบวนการทางด้านชีววิทยาคือการใช้วิธีการทางธรรมชาติมาเยียวยาธรรมชาติมากที่สุด ทำอย่างไรให้แบคทีเรียสามารถย่อยสลายสารอินทรีย์ทั้งในน้ำเสียและในขยะ โดยการสร้างองค์ประกอบอย่างง่ายไม่ยุ่งยากซับซ้อน เช่น ในน้ำเสียจะใช้พืชน้ำเข้ามาช่วยบำบัด จะเป็นจำพวกสาหร่ายเซลเดียว ธูปฤาษี พืชกึ่งบกกึ่งน้ำ หรือบางกรณีใช้พืชลอยน้ำ ในทางฟิสิกส์นั้นน้ำจะหมุนเวียนอยู่ตลอดเวลาด้วยการเคลื่อนที่จากแนวตั้งไปแนวนอน เมื่อน้ำเกิดการระเหยจะทำให้เกิดสมดุล
"ขยะ" ขยะมีหลายประเภท หลักการคือทำอย่างไรให้ขยะอินทรีย์ถูกจุลินทรีย์ย่อยสลายให้หมดไป ซึ่งจุลินทรีย์ต้องการออกซิเจนเป็นพลังงานในการย่อยสลาย หากไม่มีออกซิเจน แบคทีเรียก็จะไปดึงออกซิเจนจากสารประกอบที่อยู่ในสารอินทรีย์มาใช้ ทำให้เกิดมีกลิ่นเหม็น การจัดการขยะตามแนวพระราชดำริ คือ การทำให้ขยะย่อยสลายและเป็นปุ๋ยโดยใช้อากาศ ทรงเน้นย้ำว่าทำอย่างไรคนไทยจึงจะแยกขยะ และนำขยะอินทรีย์ไปทำปุ๋ยหมัก นำเอาส่วนที่เป็นขยะรีไซญเคิลมาประดิษฐ์เป็นวัสดุของใช้ และแปรสภาพขยะอันตรายให้ไม่มีพิษ”
กล่าวโดยสรุป แนวพระราชดำริด้านสิ่งแวดล้อม จะใช้แนวทาง “ธรรมชาติช่วยธรรมชาติ” ซึ่งจำแนกเป็น 2 ด้าน คือ การจัดการน้ำเสีย และการกำจัดขยะ
การจัดการน้ำเสียตามแนวพระราชดำริ ได้หลักการ "น้ำดีไล่น้ำเสีย" หลักการบัดน้ำเสียด้วยผักตบชวา ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยการผสมผสานระหว่างพืชน้ำกับระบบการเติมอากาศ ทฤษฎีการบำบัดน้ำเสียด้วยระบบบ่อบำบัดและวัชพืชบำบัด และ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" ซึ่งมีสาระโดยสรุปดังนี้คือ
จากกระแสพระราชดำรัสเนื่องในวโรกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา เมื่อวันที่ 4 ธันวาคม พ.ศ. 2544 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงตรัสเกี่ยวกับการจัดการสิ่งปฏิกูลว่า
“สิ่งโสโครกจากบ้านเรือนที่ให้เทศบาลสูบไป มักนำไปปล่อยลงคลอง ลงแม่น้ำ ถ้าหาที่แห่งหนึ่งนอกเมือง ทำถังหมักสิ่งโสโครกไว้ 10 วัน สิ่งที่เป็นสิ่งโสโครกก็หายโสโครก เชื้อโรคอะไรก็หมดไป ถ้าให้ดีเอาไว้ 28 วัน ให้มันจริงๆจังๆ พวกเชื้อที่ร้ายแรงที่ยังมีอยู่ก็หมด แม้แต่กลิ่นก็หายหมด เสร็จแล้วเอามาตากใช้ประโยชน์ได้ ทั้งส่วนที่เป็นของแข็งและส่วนที่เป็นน้ำเป็นปุ๋ยที่ไม่เหม็น เทศบาลต่างๆ ที่มีปัญหานี้ก็ต้องพยายามพิจารณาว่าจะทำอะไรต่อไป”
จากกระแสพระราชดำรัสดังกล่าวข้างต้น นายสาโรจน์ คัชมาตย์ ผู้ว่าราชการนนทบุรีในขณะนั้น จึงได้มีการประชุมร่วมกันระหว่างส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อนำแนวทางตามโครงการ พระราชดำริฯ มาดำเนินการต่อ เพื่อแก้ปัญหาการกำจัดสิ่งปฏิกูลที่ยังไม่ถูกสุขลักษณะ อันเป็นสาเหตุของปัญหาสิ่งแวดล้อมอื่นๆ
ด้วย สำนักงานสิ่งแวดล้อมภาคที่ 6 นนทบุรี ได้รับมอบหมายจากผู้ว่าราชการจังหวัดนนทบุรี ให้ออกแบบและควบคุมการก่อสร้าง “บ่อหมักสิ่งปฏิกูล” ตามแนวพระราชดำริ ขนาดความจุ 15 ลูกบาศก์เมตร จำนวน 32 บ่อ ณ วัดสวนแก้ว จ. นนทบุรี ซึ่งพระอาจารย์พยอม กัลยาโณ ได้ให้ความอนุเคราะห์พื้นที่
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ
มูลนิธิชัยพัฒนา
http://web.ku.ac.th/king72/2542-09/res06.html