พระราชดำริเรื่อง "ป่าไม้"

เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็พากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาป่าไม้ไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการพัฒนาด้านอื่นๆ ด้วยทรงตระหนักดีถึงความสัมพันธ์เชื่อมโยงอย่างเป็นระบบในด้านระบบนิเวศน์ ทั้งดิน น้ำ ต้นไม้ พืช สัตว์ เนื่องจากองค์ประกอบเหล่านี้ล้วนเป็นรากฐานในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของพสกนิกรในด้านต่างๆ พระองค์ทรงคิดค้นนานาวิธีที่จะอนุรักษ์ป่าไม้ให้ยืนยง ทรงสร้างความตระหนักให้มีความรักป่าไม้ด้วยจิตสำนึกร่วมกัน (Awareness and Sharing Participation) มากกว่าวิธีการใช้อำนาจบังคับ ดังเช่นพระราชดำริที่ว่า

"..เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ควรจะปลูกต้นไม้ลงในใจคนเสียก่อน แล้วคนเหล่านั้นก็พากันปลูกต้นไม้ลงบนแผ่นดินและรักษาต้นไม้ด้วยตนเอง.."

โดยหลักการพัฒนาป่าเป็นการพัฒนาแบบองค์รวมและเชื่อมโยงกัน ดังนี้

1) ปลูกป่าต้นน้ำลำธาร หรือ การปลูกป่าธรรมชาติ

แนวทางปฏิบัติที่ได้รับพระราชทานคือ การปลูกต้นไม้ที่ขึ้นอยู่เดิมโดยให้ศึกษาก่อนว่าพันธุ์ไม้ดั้งเดิมมีอะไรบ้างแล้วปลูกแซม ไม่นำไม้ผิดแผกจากถิ่นเดิมมาปลูกโดยไม่ศึกษาเสียก่อน

2) ปลูกป่าในที่สูง

ทรงแนะนำวิธีการ “...ใช้ไม้จำพวกที่มีเมล็ดทั้งหลายขึ้นไปปลูกบนยอดที่สูง เมื่อโตแล้วออกฝักออกเมล็ดก็จะลอยตกลงมาแล้วงอกเองในที่ต่ำต่อไป เป็นการขยายพันธุ์โดยธรรมชาติ อาศัยหลักธรรมชาติ...”

3) การปลูกไม้ 3 อย่างประโยชน์ 4 อย่าง

ป่าไม้ 3 อย่างเป็นแนวคิดของการผสมผสานการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรป่าไม้ ควบคู่ไปกับเศรษฐกิจและสังคม กล่าวคือ เพื่อป้องกันมิให้เกษตรกรเข้าบุกรุกทำลายป่าไม้ จึงควรให้ดำเนินการปลูกป่า 3 อย่าง เพื่อประโยชน์ 4 อย่าง คือ ป่าสำหรับไม้ใช้สอย ป่าสำหรับเป็นไม้ผล และป่าสำหรับเป็นเชื้อเพลิง ป่าหรือสวนป่าเหล่านี้นอกจากเป็นการเกื้อกูลและอำนวยประโยชน์ 3 อย่างแล้ว ป่าไม้ก็จะอำนวยประโยชน์ในการอนุรักษ์ดินและน้ำ และคงความชุ่มชื้นเอาไว้ อันเป็นประโยชน์อย่างที่ 4 ซึ่งเป็นผลพลอยได้

โดยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ได้พระราชทานพระราชดำริเพิ่มเติมเกี่ยวกับการปลูกป่าเพื่อใช้ทำฟืนว่า

“...การปลูกป่าสำหรับใช้เป็นฟืนซึ่งราษฎรจำเป็นต้องใช้เป็นประจำ ในการนี้จะต้องคำนวณเนื้อที่ที่จะใช้ปลูก เปรียบเทียบกับจำนวนราษฎรตลอดจนการปลูกและตัดต้นไม้ไปใช้ จะต้องใช้ระบบหมุนเวียนและมีการปลูกทดแทน อันจะทำให้มีไม้ฟืนสำหรับใช้ตลอดเวลา...”

4) การปลูกป่าโดยไม่ต้องปลูก

ได้พระราชทานแนวคิดว่า บางครั้งป่าไม้ก็เจริญเติบโตขึ้นเองตามธรรมชาติ ขอเพียงอย่าเข้าไปรบกวนและทำลายโดยรู้เท่าไม่ถึงการณ์ หากปล่อยไว้ตามสภาพธรรมชาติชั่วระยะเวลาหนึ่งป่าไม้ก็จะสมบูรณ์เอง การะดมปลูกป่าด้วยความไม่เข้าใจ เช่น ปอกเปลือกหน้าดินซึ่งมีคุณค่ามากออกไป และปลูกพันธุ์พืชซึ่งไม่เหมาะสมกับสภาพท้องถิ่นและระบบนิเวศน์บริเวณนั้น นอกจากต้นไม้ที่ปลูกไว้จะตายโดยไม่ได้ประโยชน์แล้ว ยังทำลายสภาพแวดล้อมอีกด้วย

5) ป่าเปียก: สร้างแนวป้องกันไฟเปียก (Wet Fire Break)

เป็นทฤษฎีการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความชุ่มชื้นเป็นหลักสำคัญที่จะช่วยให้ป่าเขียวสดอยู่ตลอดเวลาไฟป่าจึงเกิดได้ยากการพัฒนาเพื่อการอนุรักษ์และฟื้นฟูป่าไม้ที่สามารถทำได้ง่ายและได้ผลดียิ่ง

6) การสร้างภูเขาป่า

ทฤษฎีการพัฒนาฟื้นฟูป่าไม้โดยใช้ความรู้ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาเป็นแนวทางในการปฏิบัติ เพื่อปรับปรุงให้เหมาะสมกับการฟื้นฟูป่าเสื่อมโทรมทั้งที่มีแหล่งน้ำและไม่มีแหล่งน้ำ

7) การปลูกป่าทดแทน

การปลูกป่าทดแทนจะต้องทำอย่างมีแผนโดยการดำเนินการไปพร้อมกับการพัฒนาชาวเขา ในการนี้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ ชลประทาน และฝ่ายเกษตรจะต้องร่วมมือกันสำรวจต้นน้ำในบริเวณพื้นที่รับผิดชอบ เพื่อวางแผนปรับปรุงต้นน้ำและพัฒนาอาชีพได้อย่างถูกต้อง

8) ฝายกั้นน้ำ (Check Dam) หรือ ฝายชะลอความชุ่มชื้น

ฝายชะลอความชุ่มชื้นที่ได้ทรงคิดค้นขึ้น เพื่อเป็นวิธีการในการสร้างความชุ่มชื้นให้กับพื้นที่ป่าด้วยวิธีการง่ายๆ ประหยัด และได้ผลดี นั่นคือ การสร้างฝายเล็กๆ ให้สอดคล้องไปกับสภาพธรรมชาติ โดยการใช้วัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น ฝายชะลอความชุ่มชื้นมีอยู่ 2 ประเภทคือ ฝายต้นน้ำลำธาร สำหรับกักกระแสน้ำไว้ให้ไหลช้าลง และสามารถซึมลงใต้ผิวดินเพื่อสร้างความชุ่มชื้นในบริเวณนั้น และอีกประเภทหนึ่งคือ ฝายดักตะกอนดินและทรายมิให้ไหลลงสู่แหล่งน้ำเบื้องล่าง ฝายทั้งสองประเภทสามารถสร้างความชุ่มชื้น สร้างระบบวงจรน้ำที่อำนวยประโยชน์แก่การฟื้นฟูและอนุรักษ์ป่าไม้ได้อย่างมีประสิทธิภาพดียิ่ง

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ