พระราชดำริเกี่ยวกับ "พลังงาน"

ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มี แต่ต้องขยัน หาวิธีที่ทำให้เชื้อเพลิงเกิดใหม่ เชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมันนั้นมันจะหมด ภายในไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีก็หมด... ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทน เราก็เดือดร้อน

พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงทราบดีถึงข้อจำกัดของการใช้แหล่งพลังงานเชื้อเพลิงจากน้ำมันที่นับวันจะหมดไปและยากที่จะผลิตทดแทนได้ ทำให้มีราคาสูงขึ้น ประชาชนก็เดือดร้อน ดังนั้นหนทางที่จะลดการพึ่งพาแหล่งเชื้อเพลิงราคาแพง คือต้องสร้างทางเลือกใหม่ หาแหล่งพลังงานใหม่ที่จะมาทดแทนการใช้น้ำมัน ดังพระราชดำรัส ที่พระราชทานแก่คณะบุคคลต่างๆ ที่เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล ในโอกาสวันเฉลิมพระชนมพรรษา ณ ศาลาดุสิดาลัย สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิตฯ วันอาทิตย์ที่ 4 ธันวาคม พ.ศ.2548 ว่า

“...ถ้าน้ำมันเชื้อเพลิงหมดแล้ว ก็ใช้เชื้อเพลิงอย่างอื่นได้ มี แต่ต้องขยัน หาวิธีที่ทำให้เชื้อเพลิงเกิดใหม่ เชื้อเพลิงที่เรียกว่าน้ำมันนั้นมันจะหมด ภายในไม่กี่ปีหรือไม่กี่สิบปีก็หมด... ถ้าไม่ได้ทำเชื้อเพลิงทดแทน เราก็เดือดร้อน...”

โครงการตามแนวพระราชดำริของ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ในด้านการพัฒนาพลังงานทดแทนนั้นเกิดขึ้นด้วยสายพระเนตรอันยาวไกลที่ทรงเล็งเห็นและมีพระราชดำริให้เตรียมรับกับปัญหามากว่า 50 ปีแล้ว (เริ่มขึ้นตั้งแต่ประมาณ ปี 2504; อ้างจากหนังสือ “72 ปี แก้วขวัญ วัชรโรทัย เลขาธิการพระราชวัง”) ทั้งนี้นายแก้วขวัญ วัชโรทัย กล่าวไว้ว่า พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราชบรมนาถบพิตร ทรงมีรับสั่งตั้งแต่ พ.ศ. 2504 ว่าค่ารถและน้ำมันจะแพง พระองค์จึงได้มีการศึกษา ค้นคว้า และทรงริเริ่มการพัฒนาพลังงานทดแทนโดยการนำเอาวัสดุทางการเกษตรมาแปรรูปเป็นน้ำมันสำหรับเครื่องยนต์และรถยนต์ประเภทต่างๆ เพื่อลดการพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศมาตั้งแต่น้ำมันยังมีราคาลิตรละไม่กี่บาท โดยเป็นไปตามหลักการ “การพึ่งตนเอง” คือ การลดต้นทุนการผลิต เพราะสามารถผลิตใช้เองได้ ปัจจุบันจึงมีการศึกษาวิจัยพลังงานตามแนวพระราชดำริอยู่มากมายและนำมาใช้จริงอีกหลายโครงการ ดังนี้

1. แก๊สชีวภาพ

เมื่อปี 2522 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ได้พระราชทานพระราชดำริให้โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา ทดลองผลิตแก๊สชีวภาพจากมูลโคนม โดยนำเศษพืชหรือมูลสัตว์มาหมักในถังหรือบ่อในสภาพที่ขาดอากาศเป็นระยะเวลาหนึ่ง จะเกิดแก๊ส ซึ่งร้อยละ 50 เป็นแก๊สมีเทน มีคุณสมบัติติดไฟได้ น้ำหนักเบากว่าอากาศ และไม่มีกลิ่น ส่วนแก๊สที่เหลือประกอบด้วยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ แก๊สไข่เน่า และแก๊สอื่นๆ อีกหลายชนิด สามารถนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงได้ เป็นการส้รางประโยชน์จากวัสดุเหลือใช้และยังได้แหล่งพลังงานใหม่ทดแทนน้ำมันเชื้อเพลิงด้วย ต่อมาได้มีโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริทดลองเรื่องพลังงานแก๊สชีวภาพเพื่อเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้แก่ประชาชน เช่น ศูนย์ศึกษาการพัฒนาห้วยทราย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.เพชรบุรี: ทำแก๊สชีวภาพจากมูลวัว ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทอง อันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.นราธิวาส ทำระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลสัตว์ เป็นต้น

2. แก๊สโซฮอล์

การพัฒนาแก๊สโซฮอล์เริ่มต้นอย่างเป็นรูปธรรมเมื่อพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินตรวจเยี่ยมโครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดาใน พ.ศ.2528 โดยทรงมีพระราชดำรัสให้ศึกษาการผลิตเอทานอลจากอ้อย เพราะอนาคตอาจเกิดภาวะขาดแคลนน้ำมันและราคาอ้อยตกต่ำ การแปรรูปอ้อยเป็นเอทานอลจะช่วยแก้ปัญหาดังกล่าวได้อีกทาง

ปี พ.ศ. 2529 ทางโครงการส่วนพระองค์ได้เริ่มผลิตแอลกอฮอล์จากอ้อย หลังจากนั้นได้มีหน่วยงานรัฐและเอกชนให้ความร่วมมือในการพัฒนาแอลกอฮอล์ที่ใช้ เติมรถยนต์อย่างต่อเนื่อง จนเมื่อปี พ.ศ. 2539 การปิโตรเลียมแห่งประเทศ ไทย (ปตท.) ร่วมกับ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศ ไทย (วท.) และโครงการส่วนพระองค์ ได้ร่วมกันปรับปรุงคุณภาพแอลกอฮอล์ที่ใช้ เติมรถยนต์ โดยการนำแอลกอฮอล์ที่โครงการส่วนพระองค์ผลิตได้ที่มีความบริสุทธิ์จากเดิม 95% ไปกลั่นซ้ำเป็นแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ 99.5% แล้วจึงนำมา ผสมกับน้ำมันเบนซิน ออกเทน 91 ในอัตราแอลกอฮอล์ 1 ส่วน กับ เบนซิน 9 ส่วน เป็นน้ำมัน "แก๊สโซฮอล์" ทดลองเติมให้กับรถเครื่องยนต์เบนซินของโครงการส่วนพระองค์

พระราชดำรัสบางส่วนที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวราชทานแก่ผู้เข้าเฝ้าฯ ถวายพระพรชัยมงคล เนื่องในวโรกาสเฉลิมพระชนมพรรษา 5 ธันวาคม 2543 เกี่ยวกับการทำแก๊สโซฮอล์ ดังนี้

"....น้ำมันสมัยใหม่แพงไม่รู้ทำไมมันแพง แต่ก็ยังไงเป็นสมัยนี้อะไร ๆ ก็แพงขึ้นทุกทีจะให้น้ำมันถูกลงมาก็ลำบาก นอกจากหาวิธีที่จะทำน้ำมันราคาถูกซึ่งก็ทำได้เหมือนกัน ถูกกว่านิดหน่อยคือแทนที่จะใช้น้ำมันที่มีออกเทน 95 ก็ใช้ออกเทน 91 แล้วก็เติมแอลกอฮอล์เข้าไปนิดหนึ่ง ก็เป็นออกเทน 95 อาจเป็นได้ว่ารถจะวิ่งไม่เร็วก็ดีเหมือนกัน รถไม่วิ่งเร็วเกินไป รถจะได้ไม่ชนมากเกินไป ก็จะช่วยประหยัดทั้งหมดนี้เป็นความคิดที่ให้พอเพียง...."


"....พูดแบบคนไม่รู้เรื่อง ไม่รู้เรื่องการคลังการเศรษฐกิจ แต่ว่าลองนึกดูถ้าสมมติว่า ใช้ของที่ทำในเมืองไทย ทำในประเทศได้เองแล้วก็ทำได้ดีมาก อ้อยที่ปลูกที่ต่าง ๆ เขาบ่นว่ามีมากเกินไปขายไม่ได้ ราคาตก เราก็ไปซื้อในราคาที่ดีพอสมควร มาทำแอลกอฮอล์แล้วผู้ที่ปลูกอ้อยก็ได้เงิน ผู้ที่ทำแอลกอฮอล์ก็ได้เงิน...."

3. ไบโอดีเซล

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงศึกษาการผลิตน้ำมันดีเซลจากน้ำมันของพืชชนิดต่างๆ (เช่น น้ำมันมะพร้าว น้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วลิสง น้ำมันถั่วเหลือง ฯลฯ) หรือไขมันสัตว์ รวมทั้งน้ำมันที่ใช้แล้วจากการปรุงอาหาร โดยนำมาผ่านขบวนการทางเคมี โดยการเติมแอลกอฮอล์ และสารเร่งปฏิกิริยาบางตัว ภายใต้สภาวะอุณหภูมิสูง จะทำให้ได้ผลผลิตเป็น “ไบโอดีเซล” ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงน้ำมันดีเซล สามารถนำมาใช้กับเครื่องยนต์ดีเซลได้ โดยไม่เกิดปัญหากับเครื่องยนต์ เป็นการศึกษานำร่อง เพื่อให้เกิดการต่อยอดและประชาชนชาวไทยจะได้ใช้พลังงานทดแทนที่มีราคาถูกลง ทั้งยังเป็นการสนับสนุนผลผลิตทางการเกษตรในประเทศ จึงมีพระราชดำรัสให้มีโครงการพัฒนาพลังงานทดแทน เพื่อศึกษาแนวทางการนำน้ำมันพืช โดยเฉพาะอย่างยิ่งน้ำมันปาล์มมาใช้งานแทนน้ำมันดีเซล โดยทรงมีพระราชดำริเรื่องการออกแบบและสร้างเครื่องหีบน้ำมันปาล์มตั้งแต่ปี พ.ศ. 2518 ต่อมา ในปี พ.ศ. 2528 ได้พระราชทานพระราชดำริให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ สร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดเล็กที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จังหวัดกระบี่ และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างโรงงานน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ขนาดเล็ก กำลังผลิตวันละ 110 ลิตร ที่ศูนย์ศึกษาการพัฒนาพิกุลทองอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จังหวัดนราธิวาส ในช่วงปี 2531 ต่อมาในเดือน มกราคม พ.ศ. 2544 พระราชทานงบประมาณจากมูลนิธิชัยพัฒนา จำนวนเงินประมาณ 8 ล้านบาท ให้มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เพื่อสร้างโรงงานสกัดน้ำมันปาล์มขนาดกำลังผลิต 2 ตันทะลายต่อชั่วโมง ที่สหกรณ์นิคมอ่าวลึก จำกัด จ.กระบี่ และงบประมาณ 3 ล้านบาท และเครื่องยนต์ขนาด 8 แรงม้า 3 เครื่อง รถไถเดินตามขนาด 11 แรงม้า 2 คัน และขนาด 8 แรงม้า 2 คัน เพื่อใช้ในโครงการทดสอบการใช้น้ำมันปาล์มทดแทนน้ำมันดีเซล ในเครื่องจักรกลการเกษตร

4. ดีโซฮอล์

โครงการดีโซฮอล์ (น้ำมันดีเซล + แอลกอฮอล์) ที่โครงการส่วนพระองค์ สวนจิตรลดา เริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 2541 โดยการปิโตรเลียมแห่งประเทศไทยร่วมกับโครงการส่วนพระองค์สวนจิตรลดา ทดลองผสมแอลกอฮอล์ 95% กับน้ำมันดีเซล และสาร อีมัลซิไฟเออร์ (มีคุณสมบัติทำให้แอลกอฮอล์กับน้ำมันดีเซลผสมเข้ากันโดยไม่แยกชั้น) ในอัตราส่วน 14 : 85 : 1 แล้วนำดีโซฮอล์ไปใช้เป็นน้ำมันเชื้อเพลิงสำหรับเครื่องยนต์ดีเซลเช่น รถกระบะและรถแทรกเตอร์ของโครงการส่วนพระองค์ฯ ซึ่งผลการทดลองพบว่า สามารถใช้ดีโซฮอล์เป็นเชื้อเพลิงได้ดีพอสมควร และสามารถลดปริมาณควันดำได้ร้อยละ 50

5. พลังงานความร้อนจากแกลบ

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ ทรงเล็งเห็นว่าเชื้อเพลิงถ่านที่ทำจากไม้จะหาได้ยากขึ้นในอนาคต จึงมีพระราชดำริให้ค้นคว้าทดลองนำวัสดุเหลือใช้มาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด เช่น ผักตบชวา มาอัดเป็นแท่งเชื้อเพลิง ซึ่งเรียกว่า “เชื้อเพลิงเขียว” และถ่านจากแกลบ ซึ่งปัจจุบันโครงการส่วนพระองค์ในสวนจิตรลดา ก็มีโครงการเกี่ยวกับการผลิตถ่านแกลบอัดแท่ง โดยนำแกลบที่ได้จากโรงสีข้าวสวนจิตรลดา มาผ่านกระบวนการเพื่อบดและการอัดแกลบให้เป็นแท่ง ถ่านแกลบมีความร้อนสูงและไม่มีควัน สามารถนำไปใช้แทนถ่านไม้ได้ซึ่งเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าเยี่ยมชม เพื่อจะได้นำความรู้ไปพัฒนาสำหรับการประกอบอาชีพให้เหมาะสมกับตนเองเพื่อความเป็นอยู่ที่พอเพียงต่อไป ดังนั้นการใช้ถ่านแกลบจึงช่วยลดการทำลายป่าไม้ เพิ่มมูลค่าให้แกลบที่ถือว่าไม่มีประโยชน์แล้ว และช่วยลดของเสียจากโรงสีข้าว

6. พลังงานน้ำ

พระองค์ท่านทรงมองการณ์ไกลเล็งเห็นว่าน้ำและไฟฟ้าเป็นปัจจัยสำคัญในการดำรงชีวิต พระองค์ทรงมีพระราชดำรัสเห็นชอบกับทางรัฐบาลว่าควรมีโครงการเขื่อนกักเก็บน้ำไว้ใช้ และเพื่อทำการผลิตกระแสไฟฟ้าให้เพียงพอต่อความต้องการของประชาชน จึงก่อให้เกิดโครงการสร้างเขื่อนภูมิพลขึ้น ซึ่งเมื่อดำเนินการก่อสร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ ทรงเสด็จพระราชดำเนินประกอบพิธีเปิดเขื่อนเมื่อ วันที่ 17 พฤษภาคม 2507 และพระองค์ได้ทรงพระราชดำรัสในวันประกอบพิธีเปิดไว้ดังนี้

"เราเห็นพ้องกับรัฐบาลว่าโครงการอเนกประสงค์โครงการแรกของประเทศไทยนี้เป็นจุดเริ่มต้นในการพัฒนาเศรษฐกิจก้าวใหม่ให้ไพศาลออกไป ปัจจุบันน้ำเป็นปัจจัยหล่อเลี้ยงชีวิตและน้ำกับไฟฟ้า ส่งเสริมความเจริญก้าวหน้าของชีวิต เมื่อพลเมืองเพิ่มมากและเร็วก็ต้องเพิ่มน้ำและไฟฟ้าให้ทันความต้องการของพลเมือง"

นอกจากนี้ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงยังมีพระราชดำรัสให้พิจารณาหาวิธีการนำน้ำที่ระบายผ่านคลองลัดโพมาใช้ประโยชน์โดยกรมชลประทานได้รับเป็นเจ้าภาพดำเนินการเมื่อ พฤศจิกายน พ.ศ. 2551 และได้มีการติดตั้งกังหันผลิตไฟฟ้านำร่อง ติดตั้งที่ประตูระบายน้ำคลองลัดโพใช้หลักการพลังงานจลน์ ซึ่งเป็นหลักการเดียวกันกับพลังงานกังหันลม ซึ่งการติดตั้งนอกจากจะไม่ลดประสิทธิภาพและประโยชน์ของโครงการประตูระบายน้ำเดิมแต่ยังเสริมศักยภาพด้านผลิตพลังงานทดแทนเข้าไปอีกโดยสามารถมีกำลังผลิตไฟฟ้าไม่น้อยกว่า 80 กิโลวัตต์ หลักการกังหันผลิตไฟฟ้านี้ได้รับการนำไปขยายผลต่อที่ประตูระบายน้ำบรมธาตุจังหวัดชัยนาทโดยสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าได้ถึง 30,000 บาท ต่อเดือน

7. พลังงานลม

คุณสิริพร ไศละสูต อดีตอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน เล่าถึงการนำพลังงานลมมาใช้ตามแนวพระราชดำริว่า "แนวพระราชดำริเรื่องการใช้พลังงานลมส่วนใหญ่เป็นเรื่องการสูบน้ำ อย่างเช่น ปราณบุรี มีภูเขาที่แห้งแล้ง เพราะคนตัดไม้ทำลายป่า พระองค์ท่านทรงมีพระราชดำริให้ปลูกป่าด้วยการใช้พลังงานลมมาใช้ในการสูบน้ำขึ้นไปบนภูเขา เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้น สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะแก่การเจริญเติบโตของต้นไม้ กรมสนองพระราชดำริด้วยการนำกังหันลมไปติดไว้บนยอดเขา เมื่อกังหันหมุนก็จะทำให้เครื่องสูบน้ำทำงาน ดึงน้ำขึ้นไปให้ความชุ่มชื้นแก่ดิน ต้นไม้ก็เจริญเติบโตได้คนที่ผ่านไปแถวนั้นจะเห็นกังหันเรียงกันอยู่ วันนี้กรมมีเสาวัดลมความเร็วสูงประมาณสี่สิบเมตร แต่มีโครงการที่สร้างกังหันลมพร้อมกับการวัดลมที่ความสูงประมาณเจ็ดสิบเมตรถึงเก้าสิบเมตร เครื่องวัดลมนี้จะช่วยในการหาข้อมูลเกี่ยวกับความเร็วลมด้วย"

8. พลังงานแสงอาทิตย์

พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้พระราชทานกองทุนส่วนพระองค์ โดยมีสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (กปร.) เป็นหน่วยงานช่วยประสานงานและแผนงานต่างๆ ให้สอดคล้องกันซึ่งตัวอย่างของการนำพลังงานแสงอาทิตย์มาใช้คือ ระบบเซลล์แสงอาทิตย์กังหันลมสำหรับสูบน้ำ เครื่องทำน้ำร้อนพลังงานแสงอาทิตย์ โดยระบบเซลล์แสงอาทิตย์นั้นใช้ในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อสูบน้ำสำหรับปลูกป่าและอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่าเพาะปลูกและปรับสภาพดินเปรี้ยวให้ดีขึ้น และยังใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าให้แสงสว่างในครัวเรือน ใช้สำหรับประจุแบตเตอรี่ ใช้ในการสื่อสารด้วยโทรศัพท์ความถี่ 470 MHz และโทรศัพท์ทางไกลผ่านดาวเทียม ตลอดจนใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าสำหรับต่อเข้าระบบสายส่ง ใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อเป่าลมลงบ่อเลี้ยงปลา นอกจากนี้ยังได้มีการประดิษฐ์คิดค้นอุปกรณ์ใหม่ๆ เช่น ชุดแสงไฟล่อแมลงด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ ชุดกรองน้ำดื่มแบบรีเวิร์สออสโมซิสด้วยเซลล์แสงอาทิตย์ และเครื่องขยายเสียงพลังงานแสงอาทิตย์ไว้ใช้งานในโครงการฯ อีกด้วย (โครงการในพระราชดำริ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน กระทรวงพลังงาน)

เอกสารอ้างอิง:
สำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.). 2554.หนังสือชุด จอมปราชญ์แห่งการพัฒนา เรื่อง พลังงานสีเขียว. บริษัทอมรินทร์พริ้นติ้งแอนด์พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน). กรุงเทพฯ.
คณะกรรมาธิการการพลังงาน สภาผู้แทนราษฎร. ธันวาคม 2545. “พลังงานทดแทน เอทานอล และไบโอดีเซล”. บริษัท แปลน พริ้นท์ติ้ง จำกัด.
หนังสือ “72 ปี แก้วขวัญ วัชรโรทัย เลขาธิการพระราชวัง”
นพดล พลเสน. ความเป็นมาของ "แก๊สโซฮอล์" ในประเทศไทย. จาก http://www.thaienv.com/content/view/667/40/

น่าน

น่าน

อุดรธานี

อุดรธานี

กาฬสินธุ์

กาฬสินธุ์

เพชรบุรี

เพชรบุรี

อุทัยธานี

อุทัยธานี

ขอนแก่น

ขอนแก่น

3 จังหวัด
ชายแดนใต้

3 จังหวัดชายแดนใต้

3 จังหวัด
ชายแดนเหนือ

3 จังหวัดชายแดนเหนือ