โครงการพัฒนา
อันเนื่องมาจาก
พระราชดำริ
โครงการพัฒนา
อันเนื่องมาจาก
พระราชดำริ
พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงทราบด้วยพระเนตรพระกรรณ
ถึงปัญหาความทุกข์ยากของราษฎรมาตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์จากการตามเสด็จสมเด็จพระบรมชนกนาถ
และสมเด็จพระบรมราชชนนี ออกเยี่ยมเยียนพสกนิกรทุกภูมิภาคของประเทศไทย
ทรงพระวิริยะอุตสาหะเอาพระราชหฤทัยใส่ในการเรียนรู้ตามรอยพระยุคลบาท
สมเด็จพระบรมราชบุพการี ด้วยทรงตระหนักถึงพระราชภาระอันสำคัญที่รอคอยอยู่ในภายภาคหน้า
และด้วยน้ำพระราชหฤทัยอันเปี่ยมล้นด้วยพระเมตตาต่อประชาชนทุกผู้ทุกนาม และทุกหมู่เหล่า
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริก่อเกิดด้วยพระมหากรุณาธิคุณ ต่อเนื่องยาวนานมากว่า ๒๗ ปี ตั้งแต่ครั้งดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร
ด้วยพระวิสัยทัศน์ และสายพระเนตรที่ยาวไกล โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จึงครอบคลุม ในทุกด้าน ทั้งการพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ของพสกนิกร การสาธารณสุข การศึกษา การรักษาทรัพยากรธรรมชาติ และความมั่นคงของชาติ
โครงการพัฒนา
แหล่งน้ำอันเนื่อง
มาจากพระราชดำริ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระราชกรณียกิจด้านการพัฒนาแหล่งน้ำ ทรงดำเนินตามรอยพระยุคลบาท พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร พระบรมชนกนาถที่ทรงให้ ความสำคัญกับ “น้ำ” ที่เป็นปัจจัยหลักในการดำรงชีวิตและการประกอบอาชีพของพสกนิกรโดย ถ้วนทั่ว เริ่มต้นจากการพัฒนาแหล่งน้ำในหลากหลายรูปแบบมาตั้งแต่ปี ๒๕๓๔ จนถึงปัจจุบัน โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริตรงที่พระราชทานเมื่อเสด็จพระราชดำเนินไป ในพื้นที่ต่าง ๆ มีจำนวน ๖๑ โครงการ ใน ๑๒ จังหวัด ทุกภูมิภาค จากหมู่บ้านชายขอบบนภูเขา ทางภาคเหนือจดหมู่บ้านในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่จังหวัดเชียงใหม่ ราชบุรี จันทบุรี อุดรธานี จนถึงจังหวัดนราธิวาสเพื่อช่วยพลิกฟื้นชีวิตราษฎรตามความต้องการของประชาชนและ ความเหมาะสมของสภาพภูมิประเทศ
นับจากนั้นเป็นต้นมา ในเกือบทุกครั้งที่โดยเสด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงเยี่ยมราษฎรในพื้นที่ต่าง ๆ ขณะที่สมเด็จพระบรมราชชนนี ทรงงานด้านศิลปาชีพมักทรงแยก ไปทอด พระเนตรความเป็นอยู่ของราษฎรและพระราชทานแนวพระราชดำริในการพัฒนาแหล่งน้ำ เพื่อช่วยเหลือปัดเป่าความเดือดร้อนให้กับราษฎรในพื้นที่นั้น
โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริที่เกิดขึ้นตั้งแต่ครั้ง ดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ครอบคลุมตั้งแต่การก่อสร้างอ่างเก็บน้ำ ฝาย แก้มลิง บ่อเก็บน้ำ ท่อระบายน้ำ ระบบส่งน้ำ และการปรับปรุงอ่างเก็บน้ำ ฝายอาคาร บังคับน้ำ ระบบและท่อส่งน้ำ ทำนบดิน การจัดหาน้ำเพื่อช่วยเหลือพื้นที่ การเกษตรและการอุปโภคบริโภคของประชาชนในรูปแบบต่าง ๆ และการ พัฒนาพื้นที่แบบบูรณาการ
ทั้ง ๖๑ โครงการพัฒนาแหล่งน้ำอันเนื่องมาจากพระราชดำริ กระจาย อยู่ในทุกภูมิภาค คือ ภาคเหนือ มี ๖ โครงการ ใน ๒ จังหวัด เชียงราย และเชียงใหม่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ รวม ๑๒ โครงการ ใน ๖ จังหวัด คือ อุบลราชธานี มุกดาหาร บุรีรัมย์ ศรีสะเกษ อุดรธานี และสกลนคร ภาคกลาง ที่จังหวัดราชบุรี รวม ๖ โครงการ ขณะที่ภาคใต้ เป็นภาคที่ ได้รับพระมหากรุณาธิคุณพระราชทานโครงการมากถึง ๓๗โครงการ ใน ๓ จังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
โครงการอันเนื่อง
มาจากพระราชกรณียกิจ
ด้านการแพทย์
และการสาธารณสุข
หนึ่งในโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการสาธารณสุข ที่แสดงถึงพระมหากรุณาธิคุณ โดยเฉพาะผู้ที่ได้รับความทุกข์ยากจากการเจ็บป่วย ยากไร้และขาดโอกาส คือ “โครงการกาญจนบารมี” ที่พระราชทานพระราชดำริให้ก่อตั้งขึ้นและทรงเป็นประธาน จัดสร้างศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง ครบวงจรแห่งแรกในประเทศไทย เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เนื่องในโอกาสมหามงคลเสด็จเถลิงถวัลยราชสมบัติ เป็นปีที่ ๕๐ เพื่อลด ความทุกข์ยากลำบากของผู้ป่วยในการเดินทางมารับการรักษา
เนื่องจาก “โรคมะเร็ง” เป็นปัญหาสาธารณสุขที่สำคัญของไทย และมีแนวโน้มที่คนไทยจะมีโอกาส เป็นมะเร็งมากขึ้น ขณะที่จำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้น แต่สถานพยาบาลผู้ป่วยกลับมีจำนวนจำกัด ทำการดูแลรักษาโรคมะเร็งที่ต้องอาศัยระยะเวลาและความต่อเนื่องไม่สามารถกระทำได้เต็มที่เพื่อ ให้โครงการกาญจนบารมี ดำเนินไปได้อย่างต่อเนื่องมีประสิทธิภาพ และบรรลุวัตถุประสงค์ตาม เป้าหมาย จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้คณะกรรมการของโครงการกาญจนบารมีดำเนินการ จัดตั้งมูลนิธิกาญจนบารมีขึ้นในวันที่ ๑๕ กรกฎาคม ๒๕๔๐
วัตถุประสงค์ของมูลนิธิกาญจนบารมี นอกจากเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยโรคมะเร็งที่ยากไร้แล้ว ยังเพื่อสนับสนุนส่งเสริมการป้องกันและควบคุมโรคมะเร็ง โดยเน้นการรักษาผู้ป่วยทั้งทางร่างกาย และจิตใจ ให้ทุนการศึกษาและวิจัยเกี่ยวกับโรคมะเร็ง เป็นกองทุนสนับสนุนการดำเนินงาน กิจกรรมต่าง ๆ และการพัฒนาบุคลากรของศูนย์ฯ มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี สถาบันมะเร็งแห่งชาติ และศูนย์ป้องกันและควบคุมโรคมะเร็งส่วนภูมิภาคที่อยู่ในความรับผิดชอบ รวมทั้งร่วมมือกับองค์กร การกุศลอื่น ๆ และเพื่อสาธารณ ประโยชน์
ปัจจุบัน ศูนย์บำบัดรักษาผู้ป่วยโรคมะเร็ง มหาวชิราลงกรณ ธัญบุรี ยกสถานะขึ้นเป็นโรงพยาบาล มหาวชิราลงกรณธัญบุรี ให้บริการรักษาผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด ด้วยเครื่องมือที่ทันสมัย มีผู้ป่วยเข้ารับ บริการเฉลี่ยปีละ ๒,๐๐๐ คน ทั้งมะเร็งเต้านม มะเร็งไทรอยด์ มะเร็งปอด มะเร็งปากมดลูก และ มะเร็งลำไส้ใหญ่ มีการใช้กัมมันตรังสีในการรักษามะเร็งไทรอยด์ ซึ่งได้ผลการรักษา ทำให้มีผู้ป่วย มีอายุเกิน ๕ ปี ได้ถึงร้อยละ ๙๐
โครงการอันเนื่อง
มาจากพระราชดำริ
ด้านการเกษตร
และส่งเสริมอาชีพ
โครงการพัฒนาพื้นที่บริเวณหนองอึ่งอันเนื่องมาจากพระราชดำริ อำเภอเมือง จังหวัดยโสธร เป็นโครงการที่สามารถแก้ปัญหาให้กับราษฎรจำนวน ๗ หมู่บ้านได้อย่างบูรณาการ ครอบคลุม
ตั้งแต่การพัฒนาแหล่งน้ำ การฟื้นฟูปรับปรุงดิน การบรรเทาอุทกภัย การเพิ่มผลผลิตและรายได้ การสร้างอาชีพใหม่ รวมทั้งการฟื้นฟูอนุรักษ์ป่าและทรัพยากรธรรมชาติ โดยความร่วมมือของ
ราษฎร ๗ หมู่บ้านโดยรอบหนองอึ่ง
จากเดิมที่เคยมีการบุกรุกแพ้วถาง ทำไร่เลื่อนลอย จนป่าเสื่อมโทรม กลายเป็นป่าชุมชนดงมัน พื้นที่
๓,๐๐๖ ไร่ที่ชาวบ้านร่วมกันฟื้นฟูสภาพและอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างเกื้อกูลกัน ผลผลิตจากป่าที่ได้รับ
การพัฒนา ยกระดับขึ้น จนสามารถสร้างชีวิตและรายได้ที่ดีให้กับชาวบ้าน
โครงการนี้ เริ่มต้นขึ้นจากการเสด็จพระราชดำเนินของพระบรมราชชนนีพันปีหลวง พร้อมด้วยพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ขณะทรงดำรงพระอิสริยยศสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร ไปทรงเยี่ยมราษฎรบ้านคำน้ำสร้าง ตำบลค้อเหนือ อำเภอเมืองยโสธร จังหวัดยโสธร เมื่อวันที่ ๒๘ พฤศจิกายน ๒๕๔๓ ซึ่งได้รับผลกระทบ จากน้ำท่วม ในการนี้ สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ได้พระราชทานพระราชดำริให้หน่วยงาน ราชการต่าง ๆ พิจารณาช่วยเหลือเรื่องปากท้องของราษฎร ในพื้นที่ซึ่งเป็นหมู่บ้านยากจน
ในวันเดียวกัน พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เสด็จพระราชดำเนิน ไปทอดพระเนตรสภาพบริเวณหนองอึ่ง ในพื้นที่บ้านท่าเยี่ยม ตำบลค้อเหนือ และมีพระราชดำริ เกี่ยวกับการปรับปรุงและพัฒนาทรัพยากรธรรมชาติ เพื่อช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตและความเป็นอยู่ ของราษฎรในพื้นที่โดยพระราชทานพระราชดำริ ดังนี้
๑. ให้ปรับปรุงขุดลอกหนองอึ่ง เพื่อให้เป็นแหล่งน้ำสำหรับทำการเกษตร
และแหล่งเพาะพันธุ์ปลา
๒. ให้พัฒนาและปรับปรุงพื้นที่และสภาพดินโดยรอบหนองอึ่ง ปลูกหญ้าแฝก
และต้นไม้เพื่อป้องกันการชะล้างหน้าดิน
๓. ให้ฟื้นฟูสภาพป่าโดยรวม เพื่อให้คนกับป่าอยู่อย่างเกื้อกูลกัน
โครงการอันเนื่อง
มาจากพระราชดำริ
ด้านการศึกษา
โครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริด้านการศึกษา ได้สร้างคุณูปการให้กับเด็กและเยาวชนจำนวนมาก ในทุกระดับชั้น โดยพระราชปณิธานมุ่งมั่นเพื่อสร้างโอกาสให้กับเยาวชนที่จะเติบโตเป็นกำลังสำคัญของชาติต่อไป พระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระราชดำริให้นำพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์และทรัพย์จากผู้บริจาค โดยเสด็จพระราชกุศลมาใช้ให้เกิดประโยชน์ในการเสริมสร้างโอกาสทางการศึกษาให้แก่เยาวชนที่ ยากจน ให้มีโอกาสศึกษาอย่างต่อเนื่อง จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดตั้ง “โครงการทุนการศึกษา สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” ขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อปี ๒๕๕๒ ในเวลาต่อมาจึง จัดตั้งเป็น “มูลนิธิทุนการศึกษาพระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ ม.ท.ศ. ขึ้น เมื่อวันที่ ๔ กุมภาพันธ์ ๒๕๕๓ และทรงเป็นประธานกรรมการเอง ทุนการศึกษา พระราชทาน สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร” หรือ ม.ท.ศ. เป็นทุนการศึกษาแก่ เยาวชนที่เรียนดี ขยันหมั่นเพียร ประพฤติดี มีคุณธรรมและฐานะยากจนให้มีโอกาสศึกษาต่อในระดับ ที่สูงขึ้นจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่าในสาขาวิชาที่สอดคล้องกับความรู้ความสามารถและความต้อง การของผู้เรียน โดยไม่มีภาระผูกพันต้องใช้ทุนคืนและเมื่อจบการศึกษาจะเปิดโอกาสให้เข้าทำงานเป็น ข้าราชบริพารในพระองค์ฯ ตามความสมัครใจ
ในการดำเนินงานโครงการทุนฯ ได้พระราชทานหลักการให้กระจายทุนครบทุกจังหวัด และดำเนิน การด้วยการแสวงหา คัดเลือก คัดสรร และกลั่นกรอง จนได้ผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ารับ พระราชทานทุน จังหวัดละ ๒ รายต่อปี เป็นชายและหญิงเท่า ๆ กัน รับทุนพระราชทานในระดับชั้น มัธยมศึกษาตอนปลาย ทุนละ ๑๘,๐๐๐ บาท ต่อปีในสายสามัญ และทุนละ ๒๒,๐๐๐ บาทต่อปี ในสายอาชีพต่อเนื่องไปจนจบปริญญาตรีหรือเทียบเท่า โดยจะครอบคลุมทั้งค่าเรียน ค่าหอพักตามที่ จ่ายจริง สำหรับค่าครองชีพ ค่าหนังสืออุปกรณ์การเรียนจัดสรรให้เท่ากัน ๕๘,๐๐๐ บาทต่อคนต่อปี ตั้งแต่ปี ๒๕๕๒ จนถึง ๒๕๖๑ มีนักเรียนทุน ม.ท.ศ. ๙ รุ่น ในปี ๒๕๖๑ มีนักเรียนทุนยังคงสถานะความ เป็นนักเรียนทุนฯ รวมทั้งสิ้น ๑,๐๕๙ ราย ศึกษาในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย ๔๗๔ ราย ระดับ ปริญญาตรีหรือเทียบเท่า ๕๘๕ ราย รวมเงินทุนที่ได้จัดสรรไปแล้วเป็นเงินทั้งสิ้น ๓๑๘,๓๓๖,๕๒๔ บาท และนับตั้งแต่ปี ๒๕๕๘ เป็นต้นมา มีนักเรียนอยู่ในระบบครบทุกระดับตั้งแต่ระดับมัธยมศึกษา ตอนปลายจนถึงระดับปริญญาตรี โดยมีการใช้จ่ายเงินทุนพระราชทานคงที่นับจากปีดังกล่าว ประมาณ ๗๐ ล้านบาทต่อปี ทรงเน้นย้ำว่า
ด้วยเหตุนี้ นักเรียนทุนพระราชทาน ม.ท.ศ. จึงได้รับการติดตามช่วยเหลืออย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการศึกษาและการดำรงชีวิต พร้อมทั้งการส่งเสริมให้เป็นผู้มีจิตใจเป็นผู้ให้ มีความเป็น ผู้นำเพื่อสร้างประโยชน์ต่อสังคมและนำความรู้กลับไปดูแลบ้านเกิด
โครงการจิตอาสา
“เราทำความ ดี
ด้วยหัวใจ”
โครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” เป็นโครงการที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้จัดขึ้น เนื่องในโอกาสเฉลิมพระชนมพรรษา ๒๘ กรกฎาคม ๒๕๖๐ ด้วยน้ำพระราชหฤทัยทรงห่วงใย
ความอยู่ดีมีสุขของประชาชน และพระราชปณิธานแน่วแน่ในการบำบัดทุกข์ บำรุงสุข เพื่อชีวิต
ความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของประชาชาชน สร้างความมั่นคงและวัฒนาสถาพรให้กับประเทศ
โครงการจิตอาสา “เราทำความ ดี ด้วยหัวใจ” คือ การรณรงค์ให้ประชาชนชาวไทยแสดงพลังจิต
อาสาร่วมกับหน่วยทหารมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ ข้าราชบริพาร หน่วยราชการ
ในพระองค์ และหน่วยราชการต่าง ๆ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้หน่วยราชการในพระองค์ ร่วมกับหน่วยราชการต่าง ๆ บำเพ็ญสาธารณประโยชน์ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อน
และแก้ไขปัญหาให้แก่ประชาชน เป็นแบบอย่างในการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและผู้อื่น
ด้วยสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม และส่งเสริมการสร้างสังคมของคนดี เชิดชูคนทำความดี
จากก้าวแรกที่ทรงเริ่มต้น การทำความดีด้วยหัวใจของประชาชนแผ่ขยายออกไปอย่างกว้างขวาง จากคนกลุ่มหนึ่ง จากพื้นที่พื้นที่หนึ่ง เป็นแบบอย่างของการทำประโยชน์เพื่อส่วนรวมและผู้อื่น ด้วยสำนึกรับผิดชอบต่อสังคม ที่ขยายวงกว้างออกไปทุกสังคม ทุกพื้นที่